ข้างหลังชีวิต ภาคปฐมวัย (1)

ณ ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ตอนบ้านบางม่วง ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน นครปฐม เมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. วันเสาร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนหก ปีขาล หรือตรงกับวันที่ 14 พฤษภาคม 2481 ที่บ้านของนายเซ่งแช แซ่เจี่ย (ต่อมาเปลี่ยนเป็นนามสกุล ศรีสมบูรณ์) ได้มีทารกเพศชายคนหนึ่งถือกำเนิดเกิดมาที่บ้านนี้ นับเป็นลูกชายคนที่ 3 ของครอบครัว แต่นับเป็นลูกคนที่ 7 ของครอบครัว เด็กทารกคนนี้คือผมเองครับ ได้รับการตั้งชื่อเป็นภาษาจีนว่า “เซี่ยมบุ๊น” แปลว่า ภาษาไทย ต่อมาจึงไม่ค่อยสนใจภาษาจีนเลย หน้าตาเป็นคนจีนแต่พูดภาษาจีนไม่ได้ เรื่องนี้มีที่มาจะเล่าให้ฟังโอกาสต่อไป

นายเซ่งแช คือเตี่ยของผม ท่านเป็นคนจีนเกิดในเมืองไทย เรียกตามสมัยนิยมปัจจุบันก็คือ ตนไทยเชื้อสายจีน พูดภาษาไทยได้ดี แต่เขียนอ่านภาษาไทยไม่ได้ เพราะไม่ได้เรียนภาษาไทย ผมไม่ค่อยได้ทราบประวัติของเตี่ยมากนัก อาศัยที่ฟังจากพี่ๆเขาเล่าว่า เตี่ยมีพี่น้องสองสามคน เป็นน้องสาว 3 คน น้องชาย 1 คน ต่อมาน้องชายเตี่ยคนนี้เกิดวิกลจริตอย่างแรง สมัยนั้นยังไม่มีการรักษาโรคนี้ เตี่ยจึงรับอุปการะน้องชายคนนี้ พวกเราพี่ๆน้องๆเรียกอาคนนี้ว่า “อาเจ็กเกีย” ตอนผมเป็นเด็กๆก็ไม่ค่อยทราบว่าอาคนนี้เป็นอะไร เตี่ยปลูกกระท่อมหลังเล็กๆให้อยู่ด้านหลังบ้านใหญ่ของครอบครัว เวลาอาหารก็นำอาหารไปให้กิน อาคนนี้มักจะดุและอาละวาดกับเด็กๆซึ่งก็คือหลานของแกนั่นเอง ไม่มีใครเข้าใกล้แกได้ เห็นมีแต่เตี่ยคนเดียวที่เข้าไปอาบน้ำตัดผมให้เป็นประจำ ถามพี่ๆว่าแกเป็นอะไร ทราบว่าตอนเป็นเด็กหนุ่มชอบเล่นเครื่องรางของขลัง และน้ำมันพราย (น้ำมันพรายก็คือน้ำเหลืองที่สัปเหร่อเอาไฟลนที่คางของศพ แล้วรองใส่ขวด ว่ากันว่าหากเอาไปดีดใส่หญิงสาว หญิงคนนั้นจะลุ่มหลงและรักคนที่ดีด สมัยนั้นเขาเชื่อเรื่องนี้กันมาก) และต่อมาไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับอาของผมคนนี้ แกเกิดอาการคลุ้มคลั่งและวิกลจริต

เตี่ยมีลูกทั้งหมด 14 คน (สองภรรยา) ผมเป็นลูกภรรยาหลวง มีพี่น้องจำนวน 9 คน ตายไป 2 คน เหลือ 7 คน น่าแปลกที่พี่น้องของผมจะเกิดมาเป็นคู่ๆคือ พี่ชายคู่แรก (ตายไป 1 คน) พี่สาวคู่ที่สอง พี่สาวคู่ที่สาม ผมเป็นลูกชายคู่ที่สี่ (น้องชายตายไป 1 คน) คู่สุดท้ายคือน้องสาว

ภรรยาคนที่สองของเตี่ยมีลูก 4 คน ลูกสาว 3 คน ลูกชาย 1 คน

เตี่ยเป็นคนขยันขันแข็งในการทำมาหากิน จึงสามารถเลี้ยงลูกได้สบายๆตามสมควร แต่เตี่ยไม่ค่อนส่งเสริมให้ลูกๆเรียนมากนัก จบชั้นประถมสี่ก็ออกมาอยู่บ้าน มีพิเศษคือผมที่มีโอกาสได้เรียนสูงกว่าพี่ๆน้องๆ และมีอานิสงค์มายังน้องสาวอีกสองคน และน้องชายต่างมารดาอีกคน เตี่ยมีอคติกับการส่งลูกเรียนสูงๆ เพราะหมู่บ้านของเตี่ยสมัยนั้น มีหลายครอบครัวที่ส่งลูกเรียนสูงๆแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เสียเงินเสียทองไปมากมาย แต่ลูกที่ส่งเรียนกลับเรียนไม่จบ

เตี่ยเริ่มต้นประกอบอาชีพตั้งแต่เป็นหลงจู๊ (ผู้จัดการ)โรงสีข้าว ต่อมาเป็นคนกลางรับซื้อข้าวขายข้าว ทำการประมงที่แม่น้ำท่าจีนหน้าบ้าน (คือการทำอวน ปักเสากลางแม่น้ำและมีตาข่ายอวนดักปลา) ได้ปลามากมายแต่ละวันรวมทั้งปูด้วย สมัยนั้นน้ำในแม่น้ำใสสะอาดไม่มีมลพิษเหมือนสมัยนี้ ต่อมาเตี่ยก็ตั้งร้านขายของชำ(โชห่วย) มีรายได้ดี จนมีฐานะมั่นคง เตี่ยได้รับการยกย่องจากชาวบ้านสมัยนั้นว่า เป็นคนที่น่านับถือและมีสรรพนามที่ชาวบ้านเรียกขานคือ “เถ้าแก่” หมายถึงเป็นคหบดีมีชื่อเสียง ขนาดที่ว่าผมไปไหนๆในหมู่บ้านหรือตลาดสามพราน ที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก พอใครทราบว่าผมเป็นลูกชายของ”เถ้าแก่เซ่งแช” ก็สามารถซื้อขนมเชื่อได้ เพราะชื่อเตี่ยเป็นเครดิตให้ผม แต่ผมก็ไม่เคยประพฤตินะ เพราะกลัวถูกทำโทษ

พี่น้องผมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และเมื่อผมเกิดมาพี่สาวทั้งหลายก็มักจะเมตตาผมมาก เอาใจใส่ดูแลอย่างดี ตอนผมเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงประชาบาลใกล้บ้านคือ โรงเรียนบ้านบางม่วง ตอนนั้นมีพี่สาวไปเรียนด้วย 2 คน เตี่ยให้เงินไปกินขนมสามคนพี่น้องวันละ 50 สตางต์ พี่สาวสองคนได้คนละ 15 สตางค์ ผมได้ 20 สตางค์ สมัยนั้นคือ พ.ศ. 2489 ค่าของเงินยังสูงมากนะ มีเรื่องขำๆคือตอนเป็นเด็กผมไว้ผมจุก และฉายาของผมในหมู่พี่ๆคือ “ไอ้จุก” และพัฒนามาเป็นคำล้อเลียนที่ผมโกรธมากคือ “ไอ้จุกคลุกน้ำปลา จุกเปื้อนขี้หมา หน้าตากระจ๊องง็อง”

พี่ๆเล่าว่าตอนผมเป็นเด็กอายุประมาณ 2-3 ขวบ หลังบ้านมีสวนมะม่วงหลายต้น เวลาเก็บมาแต่ละครั้งจำนวนมาก ถ้าผมงอแงหรือซนมากๆ พี่ๆจะจับผมมานั่งแล้ววางผลมะม่วงล้อมไว้ ผมก็จะหยุดงอแง แล้วสนใจกับมะม่วงที่วางล้อมตัวผม แต่เชื่อใหมว่าผมไม่เคยข้ามวงล้อมของมะม่วงที่วางล้อมตัวผมเลย จนบางครั้งนั่งหลับกลางวงล้อมของผลมะม่วง พี่ๆสงสารก็อุ้มไปนอน เรื่องนี้ผมเก็บมาวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ตอนนั้นผมเป็นคนไม่อาไหนหรือเคารพกฏ กติกา จึงไม่กล้าแหวกวงล้อมของผลมะม่วงกันแน่…ฮา

Advertisement

เกี่ยวกับ หนุ่มร้อยปี

ชอบดูหนัง ฟังเพลงเก่า เล่าความหลัง นั่งเล่นเน็ต ถ่ายรูป อ่านหนังสือ
ข้อความนี้ถูกเขียนใน ข้างหลังชีวิต ภาคปฐมวัย(1) คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s