ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฉิมวัย (1)

เมื่อสอบปลายปีที่ 3 เสร็จแล้ว ผมและเพื่อนๆก็มานั่งสุมหัวคุยกันสามสี่คนว่า ต่อจากนี้เราจะเรียนต่อยังไง จำได้ว่า ไพโรจน์ สำราญภูติ บอกว่าจะเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่างจนจบชั้นปีที่ 5 จักร ศิริพานิช บุญส่ง ทองเต็ม นเรศ วงษ์ววรรค์ บอกว่าจะไปเรียนต่อที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนผมนั้นบอกเพื่อนๆว่ายังตัดสินใจไม่ได้ ต้องปรึกษากับทางบ้านก่อน  เพื่อนๆมันล้อว่าจะชวนเตี่ยมาเรียนด้วยหรือไง ผมคิดในใจว่าไม่ต้องชวนเตี่ยมาเรียนด้วยหรอก ขอเพียงเตี่ยอนุญาตและสนับสนุนด้านการเงินเท่านั้นเป็นพอ

แล้วความฝันก็เป็นไปไม่ได้ในการเรียนต่อ เมื่อกลับไปบ้านเตี่ยบอกว่าจะให้บวชหนึ่งพรรษา บวชแล้วเอ็งจะคิดอ่านทำอะไรก็เป็นเรื่องของเอ็ง คำพูดของเตี่ยเปรียบเสมือนกฏหมายของครอบครัว ไม่มีใครกล้าขัดขืนหรือบังอาจล่วงละเมิด (อาจจะกลัวถูกตัดชื่อออกจากกองมรดก)

ฉะนั้นผมจึงต้องไปบวชตามความประสงค์ของเตี่ย เตี่ยบวชพี่ชายมาแล้วหนึ่งคนคือ เฮียลิ่มคุณ ที่วัดเชิงเลน อยู่ตำบลเดียวกับบ้านเตี่ย แต่คนละหมู่บ้าน บ้านเตี่ยหมู่ที่ 9 วัดเชิงเลนหมู่ที่ 10 ตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่สาม เลยต้องย้ายจากโรงเรียนบ้านบางม่วง ไปเรียนที่โรงเรียนประชาบาลวัดเชิงเลน(ใจอนุสรณ์) เพื่อไปเป็นลูกศิษย์พระพี่ชาย

สำหรับผมนั้นเตี่ยตั้งใจไว้นานแล้วว่า จะให้ไปบวชที่วัดเดชานุสรณ์ ตำบลยายชา อำเภอสามพราน ปัจจุบันอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสวนสามพราน ด้านหน้าติดถนนเพชรเกษม ด้านหลังติดแม่น้ำท่าจีน ตรงข้ามวัดเดชานุสรณ์ สมัยที่ผมบวชคือ พ.ศ. 2502 วัดยังไม่มีถนนรถยนต์เข้าถึง ต้องใช้พาหนะทางเรือแล่นขึ้นมาทางตลาดสามพราน ไปวัดเดชานุสรณ์ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

วัดเดชานุสรณ์ เป็นวัดที่อยู่ในนิกายธรรมยุติ เจ้าอาวาสคือ ท่านพระครูสาครคุณาธาร (หมึก) เป็นเจ้าคณะอำเภอสามพรานด้วย ว่ากันว่าดุนักดุหนาบรรดาวัดต่างๆที่อยู่ในการดูแลทั้งอำเภอสามพราน สมัยนั้นมีประมาณ 10 กว่าวัด บรรดาเจ้าอาวาสวัดต่างๆเกรงกลัวท่านมาก ความจริงท่านไม่ดุอะไรหรอก เพียงแต่เป็นพระที่มีหลักการ พูดน้อย และมั่นคงกับระเบียบคณะสงฆ์

เตี่ยมีความเคารพนับถือท่านมาก ถึงกับเรียกสรรพนามท่านว่า หลวงพี่ วันที่บวชมีการจัดเรือแท็กซี่หลายลำแห่นาค(คือตัวผม) ไปวัด พร้อมทั้งเครื่องอัฐบริขารครบครัน แตรวง กลองยาวบรรเลงไปตลอดทาง มีญาติมิตรร่วมขบวนไปทั้งหมดเกือบร้อยคน

งานบวชนาค(พระ)ในสมัยนั้นมักมีคตินิยมจัดงานกันสามวัน วันแรกเป็นการเตรียมงาน เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า วันสุกดิบ บรรดาพวกผู้ชาย(หนุ่มน้อยก็ไปขนของที่จะใช้จากวัด หนุ่มใหญ่ก็จัดเตรียมสถานที่บ้านงาน) บรรดาสาวแก่แม่หม้ายทั้งหลาย ก็มีหน้าที่ทำอาหารคาวหวานเพื่อเตรียมเลี้ยงแขกที่จะมาร่วมงาน โดยจะเลี้ยงกันตั้งแต่มื้อกลางวันวันสุกดิบเป็นต้นไป ตอนกลางวันคนจะยังไม่มากนอกจากคนที่มาช่วยงาน มื้อเย็นเริ่มมากขึ้น กลางคืนจะมีพิธีทำขวัญนาค จ้างหมอทำขวัญ(นาค)ที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ในย่านนั้น พิธีจะเริ่มโดยประมาณ 20.00 น. บ้านเตี่ยกว้างขวางใหญ่โต ก็จะจัดพิธีกันกลางบ้าน กว่าจะเสร็จตามพิธีการก็เกือบ 23.00 น.โดยประมาณ แม่ครัวก็จะยกอาหารซึ่งเป็นข้าวต้มมาเลี้ยงแขกอีก

หลังจากแขกกลับไปแล้วคนที่มาช่วยงานและเข้าใจเรื่องการจัดเตรียมเครื่องบวช ก็จะสาละวนจัดการให้เรียบร้อย บรรดาแม่ครัวก็สาละวนจัดเครียมอาหารมื้อเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นวันแห่นาคไปบวช คืนนี้ทั้งคืนเจ้าของเครื่องปั่นไฟฟ้าที่ว่าจ้างมา(สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าหลวง) ก็จะเปิดเพลงลูกทุ่ง ทูล ทองใจ สมยศ ทัศนพันธ์ ผ่องศรี วรนุช ฯลฯ ดังกังวาลไปไกลทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านก็ชอบฟัง การเปิดเพลงจะหยุดเวลา 01.00 น. และจะเริ่มเปิดเพลงอีกครั้งประมาณ 03.00 น. นัยว่าเป็นการปลุกแม่ครัวให้ลุกขึ้นมาทำอาหาร บรรยากาศของชนบทยามค่ำคืนในสมัยนั้นถ้าฟังเพลง ทูล ทองใจ หรือ สมยศ ทัศนพันธ์ แล้ว ท่านเอ๋ยมันซึ้งมากๆ

งานบวชผมนัยว่าเตี่ยทุ่มเงินอย่างไม่อั้น เพราะมีลูกชายที่บวชได้คือผมคนเดียว ส่วนน้องชายผมก็ร่างกายอ่อนแอไม่แน่ใจว่าจะบวชได้หรือไม่ วันที่สองคือวันที่แห่นาคไปบวช ผมจำได้ว่าบวชเวลาประมาณ 10.00 น. ท่านพระครูสาครคุณาธาร เจ้าอาวาสวัดเดชานุสรณ์ เป็นองค์อุปัชาย์ นอกจากนี้ยังมีพระคู่สวดอีกสองรูป โดยนิมนต์พระระดับเจ้าอาวาส เช่น หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดบางช้างใต้ ตำบลบางช้าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดเทียนดัด ตำบลอ้อมใหญ่ เป็น

เมื่อเสร็จพิธีบวชแล้ว ก็จะมีการถวายอาหารเพลพระทั้งวัด รวมทั้งญาติมิตรและแขกที่มาร่วมงานอนุโมทนาบุญด้วย ปัจจุบันนี้ขั้นตอนต่อไปก็จะฉลองพระบวชใหม่กันที่วัดเลย แต่ในสมัยนั้นงานยังไม่จบ ต้องต่อวันรุ่งขึ้นอีกวันเป็นวันฉลองพระใหม่ โดยตอนเช้าถวายภัตตาหารแด่พระทั้งวัดที่เมื่อวานไปบวชมา แล้วจึงเสร็จพิธีขั้นตอน

ส่วนการเลี้ยงอาหารแขกที่มาร่วมงานก็เลี้ยงมื้อเย็นวันบวชที่บ้านเจ้าภาพ กลางคืนเป็นข้าวต้ม วันรุ่งขึ้นอาหารเช้าจบลงที่อาหารกลางวันเป็นมื้อสุดท้าย ส่วนพวกที่มาช่วยงานต่างๆยังเลี้ยงมื้อเย็นอีกมื้อหนึ่ง

สรุปได้ว่างานบวชพระในสมัยนั้นต้องใช้เงินจำนวนมาก ถามว่าไม่ต้องจัดแบบนี้ได้ใหม ตอบว่าก็คงได้ตามอัตภาพของเจ้าภาพ

Advertisement

เกี่ยวกับ หนุ่มร้อยปี

ชอบดูหนัง ฟังเพลงเก่า เล่าความหลัง นั่งเล่นเน็ต ถ่ายรูป อ่านหนังสือ
ข้อความนี้ถูกเขียนใน ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย(1) คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s