ระยะเวลาที่ผมบวชอยู่ที่วัดเดชานุสรณ์จำนวน 1 พรรษา นั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลาไม่นานนัก คือบวชก่อนเข้าพรรษาประมาณ 7 วัน (เดือนกรกฏาคม 2502) และลาสิกขาเมื่อออกพรรษาหลังจากรับอานิสงค์จากการรับกฐินแล้ว ประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2502
ช่วงเวลาสั้นๆนี้ผมได้มีโอกาสทบทวนจังหวะของชีวิตบางอย่าง ชีวิตผมก่อนบวชมีความสับสนพอสมควร ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตัดสินใจทำหรือไม่ได้ทำในชีวิตก่อนบวชนั้น มันถูกหรือมันผิด เรียกง่ายๆว่าชีวิตมันหมุนเร็ว การมาบวชเป็นการเบร็คจังหวะชีวิต ให้มีความใจเย็น รอบคอบ ใช้เหตุผลมากขึ้น นี่ถือว่าเป็นกุศโลบายของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่นิยมให้บุตรหลานบวชพระเมื่อเข้าวัยอายุ 20 ปี
กิจวัตรประจำวันของพระใหม่อย่างผมหรือเพื่อนพระที่มาบวชพรรษาเดียวกันจำนวน 18 รูปคือ ตื่นจากจำวัด(นอน)เวลาประมาณ 04.30 น. ล้างหน้าทำความสะอาดร่างกายตามสมควรแล้ว ก็ครองผ้า(ห่มจีวร) แล้วท่องบทสวดมต์ให้คล่อง เช่น บทพาหุงสหัส และอื่นๆอีก ตามที่ต้องใช้ในการลงศาลาวันพระที่ญาติโยมมาทำบุญ จากนี้ก็เตรียมออกไปบิณฑบาตร การออกบิณฑบาตรพระผู้อาวุโสจะเป็นผู้กำหนดเส้นทางให้ จะเป็นการเดินบิณฑบาตรไปตามหมู่บ้านหรือพายเรือเข็ม(เรือเล็กหัวท้ายเรือยาว พายลำบากพอสมควร) เวลาออกบิณฑบาตรจะต้องรอเวลารุ่งอรุณ หรือเขาใช้วิธีง่ายๆสังเกตุว่าสมควรจะออกบิณฑบาตรได้หรือยัง คือดูเห็นลายมือ(ของเรา) หากออกเร็วกว่านี้ถือว่ามีความผิดตามพุทธบัญญัติ ต้องปรับอาบัติ ปาจิตตี(ความผิดเล็กน้อย) เมื่อพระทุกสายที่ออกบิณฑบาตรกลับมาพร้อมกันแล้ว จะมีพระอาวุโสเช่นพระอายุมากที่เรียกว่า หลวงตา เป็นผู้จัดอาหารบนศาลาฉัน เพราะวัดนี้พระต้องมาฉันพร้อมกันรวมกัน อาหารอีกส่วนหนึ่งก็จัดไว้สำหรับฉันเพล เมื่อพร้อมแล้วเจ้าวาสก็ลงมาฉันร่วมกับพระทั้งหมด ฉันเสร็จแล้วก็สวดมนต์ยถาสัพพีเป็นการอนุทโมนาบุญ หลังจากนี้ก็เตรียมตัวลงอุโบสถทำวัตรเช้า มื้อเพลจะฉันเวลา 11.00 น.ตรง เพราะตามพุทธบัญญัติพระจะฉันเลยเวลา 12.00 น. ไม่ได้ถือว่าเป็นอาบัติ เมื่อฉันเพลแล้ว เวลาประมาณ 13.00 น. พระใหม่ทั้งหมดต้องมาเรียนธรรมะที่โรงเรียนภายในวัด โดยมีพระอาวุโสเป็นผู้สอน วิชาที่เรียนคือ วิชาพุทธประวัติ เล่ม 1-3 วิชานวโกวาท(สำหรับพระบวชใหม่) วิชาวินัยมุข วิชาปฐมสมโพธิ วิชากระทู้(คือการตั้งพุทธภาษิตขึ้นหนึ่งบท แล้วให้บรรยายความเรียงให้สอดคล้องกับพุทธภาษิต)สำหรับวิชานี้ผมชอบมาก สอบได้ที่หนึ่งเสมอๆ ใช้เวลาในการเรียนธรรมะประมาณ 2 ชม. หลังจากนี้ก็พักผ่อนเอนหลังตามอัธยาศัย ตอนเย็นเวลาประมาณ 17.00 น.ก็เตรียมตัวลงอุโบสถทำวัตรเย็น
หากเป็นวันพระก็ไม่ต้องออกบิณฑบาตร เพราะญาติโยมจะมาทำบุญที่วัดบนศาลาการเปรียญเวลาประมาณ 08.00 น.พระก็จะลงมาที่ศาลาการเปรียญ นั่งบนอาสนสงฆ์ตามลำดับอาวุโส เจ้าอาวาสจะนั่งหัวแถวต่อจากที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชา การบวชเร็วช้ากว่ากันหนึ่งวันก็ถือว่ามีอาวุโสต่างกันแล้ว สรุปแล้วพระที่บวชเป็นรูปสุดท้ายในพรรษานี้ จะต้องนั่งท้ายสุดไม่ว่าจะมีวัยวุฒิคุณวุฒิอย่างร นี่ถือเป็นความเสมอภาคที่เคร่งครัดที่สุดในวงการพระสงฆ์
เมื่อทายกทายิกาญาติโยมถวายอาหารแล้ว พระก็จะเริ่มฉัน การฉันอาหารต่อหน้าญาติโยมมากๆนั้น ประหม่าเหมือนกันนะ บางรูปฉันไม่ค่อยได้เลย เพราะมันไม่เหมือนกับท่านไปรับประทานอาหารตามร้าน ถึงแม้ว่าจะมีพนักงานบริการมาคอยดูแลอยู่ใกล้ๆก็ตาม ฉันเสร็จแล้วก็สวดมต์ ตอนนี้ต้องสวดหลายบท หากไม่ท่องให้ได้ก็อับอายขายหน้าญาติโยม อื่นๆก็ดำเนินไปตามกิจวัตรประจำวัน
ตอนก่อนออกพรรษาจะมีการสอบไล่วิชาธรรมะที่เรียนมา เจ้าคณะอำเภอจะกำหนดให้วัดใดวัดหนึ่ง เป็นสนามสอบไล่ ถ้าสอบได้จะมีลำดับดังนี้คือ นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก จากนี้ก็ไปเรียนต่อขั้นสูงขึั้นไปเรียกว่าเรียนระดับเปรียญ มีลำดับตั้งแต้ เปรียญสาม ถึงเปรียญเก้า ถ้าพระรูปใดสอบได้เพียงระดับเปรียญสาม ก็จะได้รับสมญานามนำหน้าว่า มหา แล้ว
สนามสอบสมัยที่ผมบวชคือ วัดสรรญเพชร อยู่หลังโรงเรียน ภปร.ราชวิทยาลัย สามพราน เชิงสะพานโพธิ์แก้ว ผมสอบไล่ได้ระดับ นักธรรมตรี หากไม่ลาสิกขาไม่แน่ว่าผมอาจจะเป็นมหาเปรียญไปแล้วก็ได้นะ
อาจจะเรียกว่าผมโชคดีมากๆที่ท่านพระครูสาครคุณาธาร เจ้าอาวาส ท่านเมตตาผมมากๆอนุญาตให้ผมพักจำพรรษาอยู่ห้องๆหนึ่ง ตรงข้ามกับห้องส่วนตัวของท่าน ท่านเอ๋ยห้องนี้เต็มไปด้วยหนังสือสารพัดประเภท ทั้งหนังสือธรรมะ ตั้งแต่แบบเรียนนักธรรมตรีถึง นักธรรมเอก หนังสือธรรมะอีกหลากหลาย ซึ่งผมยังไม่ค่อยรู้จักมากนัก หนังสือสารคดีของนักเขียนที่มีชื่อ เช่น หลวงวิจิตรวาทการ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยาอนุมานราชธน ฯลฯ ห้องนี้เปรียบเสมือนห้องสมุดของท่าน ผมก็กลายเป็นหนอนหนังสือตกอยู่ในกองหนังสือโดยปริยาย ด้วยประการ ฉะนี้
เมื่อผมลาสิกขาบท ตอนที่ผมเข้าไปกราบลาท่าน ท่านพูดกับผมว่า ถ้าคุณจะอยู่ต่อไปอีกก็จะดีนะ ผมกราบเรียนท่านว่ากระผมขอคำขวัญจากท่านเพื่อนำไปเป็นแนวปฏิบัติตัวด้วย ท่านหยิบกระดาษบันทึกแผ่นเล็กๆมาแผ่นหนึ่งแล้วเขียนข้อความสั้นๆว่า “อยู่คนเดียวจงระวังความคิด อยู่ในมวลมิตรจงระวังวาจา” ซึ่งผมจดจำใช้มาจนวันนี้
เกือบจะลืมกล่าวถึงพระรูปหนึ่งที่บวชก่อนผมหนึ่งพรรษา ท่านชื่อในเวลานั้นว่า พระประเทือง ปทุมาสูตร เป็นชาวตำบลยายชา ทำหน้าที่เลขาของท่านเจ้าอาวาส วันนี้ท่านคือ พระครูอดุลย์พัฒนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเชานุสรณ์ และเจ้าคณะตำบลยายชา และเคยรักษาการณ์เจ้าคณะอำเภอพุทธมณฑล