ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย ตอน”เรือจ้างลำใหม่”(1)

หลังจากที่ผมลาสิกขาบทแล้ว ตามธรรมเนียมปฏิบัติผมจะต้องอยู่วัดอีกสามวัน นัยว่าเพื่อรับใช้พระอุปัชย์ฌาอาจารย์ที่เคยมีพระคุณสั่งสอนผมมาตอนอยู่ในสมณเพศ จากนี้จึงจะกลับบ้านไปกราบเยี่มมพ่อแม่และญาติโยมทั้งหลาย
ได้รับข่าวดีหรือข่าวร้าย?
โยมแม่ได้มาหาที่วัดและแจ้งว่า ครูปรางศรี (พณิชยกุล) เพื่อนบ้านของผม ได้มาหาโยมแม่และโยมเตี่ยบอกว่า ทางโรงเรียนนาคประสิทธิ์ที่เธอทำงานเป็นครูนั้น ต้องการว่าจ้างให้ผมไปเป็นครูสอนวิชาวาดเขียน ให้เงินเดือนๆละ 600 บาท ถ้าสนใจก็ไปหาครูใหญ่และเริ่มงานได้เลย (ทั้งๆที่ผมยังไม่ขึ้นนี่นะ)
ครูปรางศรี พณิชยกุล เธอเกิดวันเดือนปีเดียวกับผม ปัจจุบันนี้เธอคือ ผศ.ดร.ปรางศรี พณิชยกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนสุนันทา และวันนี้เธอมีโรงเรียนเป็นของตนเองแล้วที่หลังตลาดสามพราน นครปฐม
นี่คือจุดหักเลี้ยวของชีวิตผมเป็นครั้งที่สอง
และนับจากนี้ไปผมไม่มีโอกาสเข้าเรียนในระบบการศึกษาอีก ไม่ว่าจะสถาบันใด เพราะชีวิตถูกลิขิตให้เข้าสู่โลกกว้างทางอาชีพเสียแล้ว
ผมจำได้ว่าไปรายงานตัวกับครูใหญ่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2502 เปิดเทอมสามของปีการศึกษา 2502 พอดี ครูใหญ่ชื่อ สันติ เย็นสบาย
เพื่อนครูสมัยนั้นเท่าที่จำได้คือ ครูอำพน พุ่มเจริญ ครูประจำชั้นมัธยมปีที่ 1 และ 2 สมัยที่ผมยังเรียนอยู่ที่นี่ ครูเกริก ระวังภัย (เสียชีวิตแล้ว) ครูณรงค์ ทิวถนอม ครูคำนวณ วงษ์ถนอม (เพื่อนที่เรียนที่นี่มาด้วยกัน เสียชีวิตแล้ว) ครูเฉลิม คงบำรุง ครูชุบ ดวงแข ครูกาญจนา (จำนามสกุลไม่ได้) ครูปรางศรี พณิชยกุล ครูลำเพา เย็นสบาย ครูอำนวย (จำนามสกุลไม่ได้)
อาคารโรงเรียนนาคประสิทธิ์ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยที่ผมเป็นนักเรียน คือเป็นอาคารไม้สองชั้นทรงปั้นหยา มีหน้ามุขตรงกลางยื่นออกมา ชั้นบนของหน้ามุขเป็นห้องทำงานครูใหญ่ และกั้นห้องเล็กๆสมมุติว่าเป็นห้องพยาบาล ไม่มีเฟอร์นิเจอร์อะไรทั้งสิ้นนอกจากโต๊ะทำงานครูใหญ่ นาฬิกาเก่าๆแขวนผนัง เตียงที่ภารโรงต่อเองในห้องพยาบาล ตู้ยาสามัญประจำบ้าน โต๊ะรับแขกไม้เก่าๆหนึ่งชุด พัดลมเพดานหนึ่งตัว
สถานะของโรงเรียนนาคประสิทธิ์สมัยนั้นคือ โรงเรียนราษฏร์ (ปัจจุบันเรียกว่าโรงเรียนเอกชน) อยู่ในความอุปถัมภ์ของวัดบางช้างเหนือ ซึ่งมีพระครูวุฒิกรโสภณ (สงัด อคฺคเสโน)เป็นเจ้าอาวาส โรงเรียนนาคประสิทธิ์ได้ก่อสร้างขึ้นโดย ท่านพระครูปลัดผัน แสงโสภา( ติสฺสุววณฺโน) อดีตเจ้าอาวาส วัดบางช้างเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2483 ผู้บริหารโรงเรียนตาม พรบ.โรงเรียนราษฏร์สมัยนั้นคือ ผู้จัดการ นายประยูร ใช้เทียนทอง ครูใหญ่ นายสันติ เย็นสบาย สอนตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่หนึ่ง ถึง หก เป็นโรงเรียนสหศึกษา(ชาย-หญิง) เก็บค่าเล่าเรียนเทอมละ 27 บาท จำนวนนักเรียนประมาณ 350-400 คน
ผมเป็นครูอยู่ที่นี่ประมาณสามปี ผลงานโดดเด่นที่สร้างให้โรงเรียนคือ จัดสร้างห้องสมุดโรงเรียน โดยขอใช้ห้องหน้ามุขชั้นล่างซึ่งเป็นที่เก็บของและโต๊ะเก้าอี้รอการซ่อม โดยไม่ต้องใช้เงินของโรงเรียนแม้แต่สตางค์เดียว (ไม่ได้โม้นะ) วิธีการหาเงินมาจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆในห้องสมุดคือ การพาลูกศิษย์เชื้อสายจีนที่อยู่ตลาดสามพราน ไปเชิดสิงห์โตในเทศกาลตรุษจีนตามตลาดและตามบ้านคนจีนในละแวกนั้น ได้เงินมาปีละประมาณ 1500 บาท หักค่าใช้จ่ายซื้ออาหารและเครื่องดื่มเลี้ยงลูกศิษย์แล้ว คงเหลือประมาณครั้งละ/ปี จำนวน 1200 บาท
ส่วนการหาหนังสือบริจาคเข้าห้องสมุด นอกจากตนเองจะบริจาคจำนวนเป็นร้อยเล่มแล้ว และนักเรียนช่วยหาหนังสือมาบริจาคก็ยังไม่พอ ผมมีข้อมูลว่าอดีตครูคนหนึ่งของโรงเรียนนี้ไปทำงานเป็นบรรณารักษ์ตรี อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ สนามหลวง หลังวัดมหาธาตุ ท่านชื่อ สงวน อั้นคง เจ้าของหนังสือที่ขายดีในสมัยนั้นคือชุด สิ่งแรกในเมืองไทย อันเป็นต้นแบบของหนังสือแนวรวบรวมและเรียบเรียง ที่มีผู้จัดทำออกมาอีกหลายเล่ม โดย สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร ส.พลายน้อย  บุนนาค พยัคพันธ์ ประพัฒน์ ตรีณรงค์ เป็นต้น
ผมมาหาท่านแต่ละครั้งจะได้รับหนังบริจาคจำนวนครั้งละ 30-40 เล่ม โดยมากเป็นหนังสือแจกงานศพที่เจ้าภาพนำมามอบให้ เพราะท่านเป็นบรรณารักษ์ดูแลห้องหนังสือภาษาไทย เมื่อเจ้าภาพงานติดต่อกับกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ซึ่งอยู่อาคารเดียวกับหอสมุดแห่งชาติ และได้รับอนุญาตแล้ว ท่านก็เป็นผู้จัดต้นฉบับหนังสือเก่าๆที่เจ้าภาพจะนำไปพิมพ์ ปีหนึ่งๆท่านจะได้รับหนังสือประเภทนี้จำนวนมาก
Advertisement

เกี่ยวกับ หนุ่มร้อยปี

ชอบดูหนัง ฟังเพลงเก่า เล่าความหลัง นั่งเล่นเน็ต ถ่ายรูป อ่านหนังสือ
ข้อความนี้ถูกเขียนใน เรือจ้างลำใหม่(1) คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

2 ตอบกลับที่ ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย ตอน”เรือจ้างลำใหม่”(1)

  1. ปวินนา ขำเจริญ พูดว่า:

    รัก นป. ค่ะ

    จากรุ่น66

    • centuryboy พูดว่า:

      สวัสดีครับ คุณปวินนา
      ขอบคุณที่กรุณาเข้าไปอ่านบล็อกของผมครับ คุณรุ่น 66 ผมรุ่น 10 ครับ ถ้าจะพูดว่ารุ่นคุณพ่อก็คงได้นะครับ มีอะไรยินดีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครับ

      ศตวรรษ ศรีสมบูรณ์
      30/12/2553

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s