ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย ตอน”คนขายเงา”(1)

หลังจากที่ได้รับการจ้างเป็นผู้จัดการโรงภาพยนตรืบางแครามาแล้ว

ผมก็ลาออกจากงานที่ ไทยทีวีสี ช่อง 3 นี่เป็นการทำงานกับระบบเถ้าแก่(ระบบครอบครัว)เป็นครั้งแรกในชีวิต และผูกพันทำงานกับระบบนี้มายาวนาน ได้ซึมซับรับวัฒนธรรม วิสัยทัศน์ และแนวคิดของระบบเถ้าแก่มาอย่างหลากหลาย โชกโชน

เจ้าของศูนย์การค้าบางแคเป็นคนจีนแต้จิ๋ว มาจากเมืองจีน สไตล์เสื่อผืนหมอนใบ มาก่อร่างสร้างตัวครั้งแรกเป็นลูกจ้างทำสวนกับญาติๆที่ตำบลบางด้วน อำเภอภาษีเจริญ เมื่อเก็บเงินออมได้จำนวนหนึ่งก็มาตั้งตัวขายปาท่องโก๋ ต่อมาก็มาเป็นกรรมกรก่อสร้าง แล้วพัฒนามาเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ทดลองสร้างอาคารพาณิชย์ขายครั้งแรก 3-4 ห้อง ปรากฏว่าขายได้ดีมีกำไร ก็คิดการใหญ่สร้างอาคารพาณิชย์ขายครั้งละ 30-40 ห้องตามย่านชุมชนต่างๆ ได้รับกำไรจากการขายห้องอาคารพาณิชย์เป็นจำนวนเงินหลายสิบล้าน

สมัยนั้น พ.ศ. 2511-2515 การสร้างศูนย์การค้าตามย่านชานเมือง กำลังได้รับความนิยมมาก เศรษฐีจีนใหม่อย่างเจ้าของศูนย์การค้าบางแค มีจำนวนหลายราย ศูนย์การค้าสมัยนั้นมีองค์ประกอบง่ายๆคือ สร้างอาคารพาณิชย์ มีตลาดสด มีโรงภาพยนตร์ เช่น ศูนย์การค้าวงเวียนใหญ่ ศุนย์การค้าพระประแดง ศูนย์การค้าดาวคะนอง ศุนย์การค้าพหลโยธิน ศูนย์การค้าพรานนก ศูนย์การค้าบางแคนับเป็นศูนย์การค้าล่าสุดในย่านชานเมือง

เจ้าของศูนย์การค้าบางแคชื่อจีนว่า เฮ้ง โจ ฮวด เฮ้งคือแซ่เฮ้ง แต่ชาวบางแคมักเรียกว่า เล่าเฮ้ง ชื่อไทยว่า ทวี แสงเรืองกิจ ผมเรียกแกว่า เถ้าแก่ จนเคยชิน

เป็นคนร่างเล็ก สูบบุหรี่มวนต่อมวน เวลาอยู่บ้านชอบสวมเสื้อก้ามตราลูกไก่ มีลูกชาย 2คน คนโตชื่อ กำพล(เจียง) แสงเรืองกิจ ต่อมาเจริญตามรอยเท้าเตี่ยมีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นของตนเองชื่อ บริษัท สินทรัพย์นคร จำกัด(มหาชน) สร้างหมู่บ้านจัดสรรตามย่านชานเมืองจำนวนเป็นสิบแห่ง ลูกชายอีกคนเป็นคนสุดท้องชื่อ ชีวิน(ชี) แสงเรืองกิจ วันนี้เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีชื่อเสียง ย่านถนนพระรามสอง เขตบางขุนเทียน มีลูกสาวสองคนคั่นระหว่างลูกชาย มีอาชีพเป็นนักจัดสรรที่ดินแบบเตี่ยทั้งหมด

วันที่ผมมารับงานครั้งแรกโรงภาพยนตร์บางแครามาเพิ่งสร้างตัวอาคารเสร็จ ยังไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์อะไรเลย เช่นเก้าอี้ เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องปรับอากาศ จอฉายภาพยนตร์ ระบบเสียง ม่านหน้าเวที เป็นต้น

โรงภาพยนตร์บางแครามา เป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ในสมัยนั้นมีที่นั่ง จำนวน 1200 ที่นั่ง สามารถตั้งเก้าอี้เสริมได้อีกจำนวน 500 ตัว ระบบเสียงใช้ระบบแม็คอินท็อชที่กำลังนิยมกันในสมัยนั้น ผมเริ่มที่ดูสัญญาการจัดซื้ออุปกรณ์แต่ละอย่าง การจัดส่งและติดตั้ง การรับประกัน ต้องยอมรับว่า เถ้าแก่ค่อนข้างจะจัดทำสัญญาการจัดซื้อได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดทั้งสิ้น นี่คืออัจฉริยของสมองเถ้าแก่ที่ไม่รู้หนังสือภาษาไทย เซ้นชื่อในเช็คได้อย่างเดียวเท่านั้น

ผมได้รับความรู้เกี่ยวกับโรงภาพยนตร์ในตอนนั้นมาก ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าของอุปกรณ์ต่างๆที่ขายให้ ผมติดตามควบคุมดูแลจนการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆเสร็จสมบูรณ์พร้อมที่จะเปิดฉายรอบปฐมทัศน์ได้แล้ว

แต่งานสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบก่อนจะได้รับใบอนุญาต อาทิ เจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการ เจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิง เจ้าหน้าที่จากอำเภอภาษีเจริญ ตอนนั้นยังไม่ได้แยกออกเป็นเขตบางแค เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ สน.หลักสอง เมื่อตรวจเสร็จเรียบร้อยก็พาเจ้าหน้าที่ทั้งหลายไปรับประทานอาหารตามระเบียบอันดีงาม

หลังจากที่ทดลองฉายภาพยนตร์เรียบร้อยแล้ว ก็พร้อมที่จะเปิดฉายรอบปฐมทัศน์ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็ทำแบบชาวบ้านๆ คือจัดรถโฆษณาไปตามย่านชุมชนใกล้เคียง อาทิ บางบอน บางขุนเทียน บางหว้า อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ หนองแขม เป็นต้น พร้อมกับแจกใบปลิวและติดแผ่นใบปิดหนังที่จะฉายไปตามกำแพง รั้ว หรือสถานที่ต่างๆ

สำหรับพนักงานมีตำแหน่งงานดังนี้ พนักงานจำหน่ายตั๋ว พนักงานเก็บตั๋วหน้าประตู พนักงานเดินตั๋วในโรง พนักงานเครื่องฉาย พนักงานช่าง พนักงานเครื่องปรับอากาศ พนักงานทำความสะอาดบริเวณนอกโรงภาพยนตร์ การทำความสะอาดในโรงเป็นหน้าที่ของพนักงานเก็บตั๋วและพนักงานเดินตั๋ว

ผมได้รับอนุญาตจากเถ้าแก่มีสวัสดิการดังนี้ รับประทานอาหารกลางวัน โดยสั่งมาจากร้านอาหารจีนหน้าตลาด ทานกับญาติผู้ใหญ่ของเถ้าแก่ที่มาดูแลเรื่องการเงิน มีที่พักเป็นอาคารพาณิชย์ด้านข้างโรงภาพยนตร์หนึ่งห้อง น้ำ ไฟ ฟรี ตอนแรกหลงดีใจว่าดีมีที่พักข้างๆ ต่อมาจึงรู้ว่าเป็นกุศโลบายให้ผมทำงานตลอดเวลา เพราะเวลามีปัญหาอะไรก็มีคนมาเรียกตลอด

Advertisement

เกี่ยวกับ หนุ่มร้อยปี

ชอบดูหนัง ฟังเพลงเก่า เล่าความหลัง นั่งเล่นเน็ต ถ่ายรูป อ่านหนังสือ
ข้อความนี้ถูกเขียนใน คนขายเงา คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s