ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย ตอน”คนขายเงา”(2)

หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้จัดการโรงภาพยนตร์(ต่อไปเพื่อความสะดวกในการเขียน ผมขอใช้คำว่าโรงหนัง) มีสารพัด นอกจากหน้าที่หลักๆคือดูแลควบคุมการทำงานของพนักงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องดูแลผู้เข้าชมหนังว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ ตรวจตราดูแลการจำหน่ายตั๋ว การเก็บตั๋วหน้าประตู ดูแลการฉายหนังให้ตรงเวลา โดยเฉพาะถ้ามีการวิ่งหนังด้วยแล้วจะพลาดไม่ได้ (เรื่องนี้ผมจะเขียนเล่าในโอกาสต่อไป) ระบบเสียงชัดเจนหรือไม่ ฯลฯ เป็นต้น

ระหว่างพ.ศ. 2511-2515 เป็นยุคทองของโรงหนังชานเมือง ซึ่งมีโรงหนังอยู่ตามย่านชุมชนเกือบทุกแห่ง โรงหนังชานเมืองเราเรียกว่า โรงหนังชั้นสอง คือฉายหนังต่อจากโรงหนังชั้นหนึ่งในกรุงเทพ เช่น โรงหนังเฉลิมไทย (รื้อไปแล้ว) โรงหนังคิงส์ โรงหนังแกรนด์ (เป็นห้างสรรพสินค้าเมอร์รี่คิงส์ วังบูรพา) โรงหนังเฉลิมกรุง ฯลฯ เป็นต้น หนังสมัยนั้นไม่ว่าหนังไทยหรือหนังเทศ มักจะมีก๊อปปี้ไม่มาก อาจจะเรื่องละ 5-6 ก๊อปปี้ ก๊อปปี้หนังจำนวนหนึ่งต้องส่งออกไปฉายต่างจังหวัด หนังไทยเรื่องหนึ่งจะมีประมาณ 5-6 ม้วน เป็นฟีล์มขนาด 35 มม. ใช้เวลาฉายม้วนหนึ่งประมาณ 30 นาที หนังเทศจะมีจำนวน 3-4 ม้วนต่อเรื่อง

ดังนั้นโรงหนังชั้นสองชานเมืองจึงต้องมีการแบ่งกันฉาย เรียกว่าคิวหนัง ยกตัวอย่างหนังเรื่อง ก. ม้วนที่ 1 อาจจะให้โรงหนังศรีพรสวรรค์ นนทบุรี ฉายก่อนและส่งต่อ โรงหนังศรีพรานนก โรงหนังวงเวียนใหญ่รามา และโรงหนังบางแครามา ดังนั้นโรงหนังที่ฉายอันดับต่อมา จึงต้องมีหนังเรื่องอื่นๆฉายรอเวลาไปก่อน นี่คือระบบการฉายควบสองเรื่อง เพราะรอบเวลาฉายแต่ละโรงจะฉายพร้อมกัน เช่นวันธรรมดา รอบเที่ยง รอบบ่ายสองโมง รอบค่ำหนึ่งทุ่ม รอบสุดท้ายสามทุ่ม วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดพิเศษ เพิ่มรอบเช้า 10โมง

บริษัทจัดจำหน่ายหนังก็จะต้องจัดคิวกำหนดให้โรงหนังไหนฉายก่อนหลัง จึงมีอาชีพหนึ่งเกิดขึ้นในสมัยนั้นคือ อาชีพวิ่งหนัง โดยหัวหน้าคนวิ่งหนังจะมีคนขี่รถมอเอร์ไซค์อยู่ในความดูแลจำนวน 10-15 คน คอยรับหนัง-ส่งหนังจากโรงหนึ่งไปยังโรงหนึ่งตามคิวที่กำหนดไว้ คนวิ่งหนังจะมีความเชี่ยวชาญเรื่องถนนต่างๆเป็นอย่างดี และทำเวลาไม่ผิดพลาดในการฉายของแต่ละโรง  อาจจะมีอุบัติเหตุบ้างก็เป็นส่วนน้อย กรณีฟีล์มหนังมาไม่ทันฉาย จะเรียกว่าจอขาว คนดูอาจจะกว้างปาสิ่งของขึ้นไปที่จอหนัง บางทีโรงหนังต้อเตรียมหนังการ์ตูนมาฉายรอฟีล์มหนังที่ยังมาไม่ถึง

สมัยนั้นมีคิววิ่งหนังหลายเจ้า (เหมือนวินรถมอเตอร์ไซต์ปัจจุบันนี้) คิววิ่งหนังที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้นเป็นของเด็กหนุ่มชาวจีนชื่อปิง มีรถวิ่งหนังอยู่ในคิวถึง 50 คัน แบ่งเป็นสายต่างๆทั่วกรุงเทพ สามารถรับคิวหนังจากบริษัทจัดจำหน่ายได้มากที่สุด

อาชีพต่อมาในสมัยนั้นคือ บุ๊คเกอร์ หมายถึงคนกลางที่จะติดต่อกับเจ้าของหนังหรือบริษัทจัดจำหน่ายหนัง กับโรงภาพยนตร์ต่างๆ อาชีพนี้ไม่ทราบว่ามีมาแต่เมื่อไร เมื่อผมมาเป็นผู้จัดการโรงหนังบางแครามา ก็จ้างบุ๊คเกอร์คนหนึ่งเป็นคนคอยจัดหาหนังมาฉาย ชื่อ คุณสุริยะ แกรับเป็นบุ๊คเกอร์ให้กับโรงหนังหลายโรง ค่าจ้างที่จ้างแกคือเดือนละ 2500 บาท นัยว่าบุ๊คเกอร์จะต้องมีความสัมพันธ์กับคนจัดหนังของแต่ละบริษัทเป็นอย่างดี สามารถบุ๊คหนังใหม่ๆดีๆที่เพิ่งออกจากโรงหนังชั้นหนึ่งมาให้ฉายได้ทันที   อีกประการหนึ่งบุ๊คเกอร์ที่มีฝีมือจะต้องจัดหาหนังตัวอย่างและโปสเตอร์ใบปิดหนังที่กำลังฉายอยู่โรงชั้นหนึ่งมาให้ได้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้แฟนๆที่ดูหนังประจำ ทราบว่า หนังเรื่องนี้จะมาฉายที่นี่ มีเหมือนกันที่ฉายหนังตัวอย่างแล้วไม่ได้ฉายเรื่องนั้น กลยุทธ์อีกประการหนึ่งที่ผู้จัดการโรงหนังชั้นสองจะต้องทำคือ จะต้องรู้ว่าหนังเรื่องไหนที่ฉายตามโรงชั้นหนึ่ง จะออกวันไหนแล้วพาลูกน้องไปแบ่งคัทเอ้าท์หนังเรื่องนั้นๆ เพื่อนำมาติดโชว์ที่หน้าโรงหนัง ถึงกับบางทีแอบไปถอดป้ายคัทเอ้าท์ที่ติดตั้งอยู่ตามสี่แยกต่างๆมาเก็บไว้ก่อนหนังเรื่องนั้นจะออกโรงชั้นหนึ่งล่วงหน้า

ระบบการฉายหนังสมัยนั้นมีสองวิธีคือเช่ามาฉาย กำไรขาดทุนโรงหนังรับผิดชอบเอง กับอีกวิธีหนึ่งคือฉายแล้วแบ่งกันระหว่างโรงหนังกับเจ้าของหนัง 40 ต่อ 60 หรือถ้าหนังดังหนังใหญ่เจ้าของหนังอาจจะเกี่ยงงอนแบ่ง 30 ต่อ 70 ก็มี ถ้าเป็นระบบแบ่งรายได้กัน เจ้าของหนังก็จะส่งคนมาคอยดูแลการจำหน่ายตั๋ว เรียกว่าเช็คเกอร์ เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีคนทำกันมาก

ผมเคยไปเช่าหนังเรื่อง ชีวิตรักของเอลวิสเพรสลีย์ กับเสี่ยเจียง (สมศักดิ๋ เตชะรัตนประเสริฐ)สมัยนั้นเพิ่งตั้งร้านเล็กๆจำหน่ายหนังอยู่ข้างโรงหนังเฉลิมกรุงชื่อ มงคลฟีล์ม

สมัยนั้นหนังจีนจากค่าย ชอว์บราเธอร์ โด่งดังเป็นที่นิยมดูของคนจีนรวมทั้งคนไทยมาก ดาราที่โด่งดังในสมัยนั้นคือ หวังอยู่ ส่วนใหญ่เป็นหนังประเภทกำลังภายใน น่าสังเกตุว่าพระเอกในหนังจีนสมัยนั้นมักจะพิการ แต่มีความสามารถด้านกำลังภายใน ชื่อหนังสมัยนั้นจึงตั้งทำนองนี้คือ เดชไอ้ด้วน พยัคค์ร้ายตาเดียว เป็นต้น

หนังจีนต้องมีคนพากษ์เป็นภาษาไทย นักพากษ์ยอดนิยมสมัยนั้นคือ พรพจน์ – รัชนีวรรณ นักพากษ์คู่นี้ทำเงินจากการพากษ์หนังเดือนละหลายหมื่นบาท เพราะมีโรงหนังต้องการให้ไปพากษ์หลายโรง จึงเกิดระบบพากษ์อัดเสียงขึ้น คือ นักพากษ์จะมาพากษ์ให้ก่อนฉายจริงหนึ่งวัน  โดยทางโรงหนังจะต้องจัดหาเครื่องบันทึกเสียงชั้นดีมาให้ การพากษ์ล่วงหน้ามักจะทำเมื่อคิวพากษ์ของเขาตรงกันหลายโรง ปกติเรามักจะให้พากษ์รอบแรกของวันฉาย และรอบต่อไปก็ใช้เทปเปิดแทนจนครบกำหนดวันฉาย สมมุติว่าพากษ์สดรอบละ 350 บาท รอบต่อๆไปถึงแม้จะใช้เทปก็ต้องจ่ายเขาเหมือนพากษ์สด เขาจะมีเด็กของเขามาเป็นคนเปิดเทป และเช็คจำนวนรอบ ทางโรงหนังต้องจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้เด็กของเขาวันละ 50 บาท อีกต่างหาก

Advertisement

เกี่ยวกับ หนุ่มร้อยปี

ชอบดูหนัง ฟังเพลงเก่า เล่าความหลัง นั่งเล่นเน็ต ถ่ายรูป อ่านหนังสือ
ข้อความนี้ถูกเขียนใน คนขายเงา คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

1 ตอบกลับที่ ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย ตอน”คนขายเงา”(2)

  1. MaM พูดว่า:

    คนขายเงา (5) ก็อ่านไม่ได้เช่นกันค่ะ ไม่พบหน้าเหมือนกัน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s