ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย ตอน”คนขายเงา”(6)

มันเป็นสัจธรรมที่เราไม่สามารถจะไปต่อต้านได้คือ อะไรจะเกิดมันก็เกิด สิ่งที่เกิดกับตัวผมคือการต้องย้ายงานอีก เรื่องของเรื่องมันมีที่มาอย่างนี้ จำได้ใหมผมเคยกล่าวชื่อเจ้าของโรงหนังชั้นสองในสมัยนั้นคนหนึ่งคือ เสี่ยสงวน เจ้าของโรงหนังเฉลิมพันธ์เธียเตอร์ ย่านสามแยกเตาปูน เสี่ยสงวนมีธุรกิจขายเครื่องฉายหนังมาก่อน มีร้านตั้งอยู่ที่วรจักร  และมีลูกจ้างคนหนึ่งชื่อยิ้ง เป็นเด็กเชื้อสายจีน แต่ชอบทางด้านเครื่องฉายหนัง ระบบเสียงด้านโรงหนัง ฝึกฝนตัวเองจนสามารถซ่อมเครื่องฉายหนังและระบบเสียงได้ จึงได้รับการเลื่อนหน้าที่การงานขึ้นมาตามลำดับ จากเด็กส่งของมาเป็นช่างประจำร้าน ในที่สุดได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นผู้จัดการโรงหนังเฉลิมพันธ์เธียเตอร์

ผมพูดถึงยิ้งเพราะเขามีส่วนเป็นตัวแปรให้ผมต้องย้ายงาน โรงหนังบางแครามาซื้อเครื่องฉายหนังจากร้านของเสี่ยสงวน เวลามีปัญหาเครื่องขัดข้อง ยิ้ง จะมาซ่อมเครื่องฉายหนังให้เป็นประจำ เถ้าแก่ของผมชอบเขามาก เพราะเป็นคนพูดภาษาจีนได้คล่อง เอาใจเก่ง เถ้าแก่จึงชวนเขามาเป็นผู้จัดการแทนผม เสนอเงินเดือนให้มากกว่าที่เขาได้รับจากเสี่ยสงวน เถ้าแก่คิดง่ายๆว่าถ้า ยิ้ง มาเป็นผู้จัดการแล้ว เวลาเครื่องเสียหรือขัดข้องจะได้ไม่ต้องเสียค่าซ่อม แต่มันไม่เป็นไปตามที่เถ้าแก่คิด เพราะ ยิ้ง สร้างปัญหาให้เถ้าแก่มาก แต่ก็ต้องขอบใจ ยิ้ง ที่เขามาบอกผมตรงๆว่าเถ้าแก่ชวนเขามาทำงานแทนผม เพราะเขาเองก็คงเบื่อที่จะอยู่กับเสี่ยสงวน และแนะนำให้ผมไปหาเสี่ยสงวน เพื่อสมัครงานเป็นผู้จัดการแทนเขาที่โรงหนังเฉลิมพันธ์เธียเตอร์

เหตุการณ์มันแปลกดีนะเพราะเสี่ยสงวนรับผมเป็นผู้จัดการแทน ยิ้ง อีกประการหนึ่งก็คือผมรู้จักเสี่ยสงวนมาตั้งแต่ประสานงานเรื่องติดตั้งเครื่องฉายภาพยนตร์ที่โรงหนังบางแครามา ผมจึงย้ายไปอยู่ที่สามแยกเตาปูนที่บ้านไม้หลังใหญ่ด้านหลังโรงหนังเฉลิมพันธ์เธียเตอร์ ซึ่งเป็นบ้านของเสี่ยสงวน ผมต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของที่ใหม่อยู่นานพอสมควร แต่ก็ไม่มีอะไรน่าหนักใจเพราะรู้งานมาแล้ว บุ๊คเกอร์ก็คุณสุริยะคนเก่านั่นเอง

ผมอยู่ที่โรงหนังเฉลิมพันธ์ประมาณสามเดือน เสี่ยสงวนก็ไปสร้างโรงหนังใหม่อีกโรงชื่อ ประดิพัทธ์เธียเตอร์ ที่ถนนประดิพัทธ์ สะพานควาย และเสี่ยสงวนมอบหมายให้ผมไปดูแลควบคุมงานต่างๆเหมือนที่ผมทำที่โรงหนังบางแครามา (อาจจะรู้ฝีมือในการควบคุมและติดตามงานของผม) ช่วงนี้ผมเริ่มเบื่องานโรงหนังมากๆ บอกตัวเองว่าผมจะไม่เอาชีวิตของผมมาจมปลักกับโรงหนังอีกต่อไปแล้ว

วันหนึ่งพอมีเวลาว่างช่วงเช้าผมก็ไปหาอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ที่บริษัท สยามกลการ จำกัด หน้าสนามกีฬาศุภชลาศัย ปทุมวัน แจ้งความต้องการว่าผมอยากทำงานประชาสัมพันธ์ ขอความกรุณาแนะนำผมด้วย อาจารย์แมนรัตน์ถามว่าอยากทำประชาสัมพันธ์ธุรกิจอะไร ผมก็ตอบว่าธุรกิจอะไรก็ได้ หลังจากนี้อาจารย์แมนรัตน์ก็เขียนจดหมายฉบับหนึ่ง จ่าหน้าซองว่าเรัยน คุณชวลิต ทั่งสัมพันธ์ โรงแรมชวลิต แล้วบอกว่ารู้จักกับคุณชวลิตเป็นอย่างดี และให้เลขาต่อโทรศัพท์ถึงคุณชวลิตเพื่อแจ้งว่าจะให้ผมไปพบ ไม่ทราบว่าจะสะดวกเวลาไหน แล้วบอกผมว่าให้ไปพบคุณชวลิตเดี๋ยวนี้เลย

ตอนนั้นอาจารย์แมนรัตน์ เป็นนายกสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยด้วย สมาคมฯนี้มีบทบาทในการขออนุญาตให้นักดนตรีและนักร้องต่างชาติเข้ามาทำงานในไทย ประกอบกับโรงแรมชวลิตก็มักจะจ้างนักร้องและนักดนตรีชาวฟิลิปปินส์มาทำงานเสมอๆ จึงได้รับความเกรงใจจากคุณชวลิตมากๆ

โรงแรมชวลิต ตั้งอยู่ระหว่างสุขุมวิทซอย 13 และซอย 15 ติดถนนสุขุมวิท ตอนนั้นยังไม่ได้สร้างโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ด้านหลัง เดิมทีโรงแรมชวลิตสร้างขึ้นมาเป็นแมนชั่นมี 7 ชั้น เพื่อให้ทหารอเมริกันเช่ามาพักผ่อน ตอนสงครามเวียตนามโดยเฉพาะ หลังจากที่สงครามเวียตนามสงบแล้ว คุณชวลิตได้ปรับปรุงให้เป็นโรงแรมเพื่อต้อนรับแขกทั่วไป จุดเด่นของโรงแรมชวลิตคือ มีร้านจำหน่ายอาหารแบบค๊อฟฟี่ชอบอยู่ด้านหน้าริมถนน ชื่อบางกะปิค๊อฟฟี่ชอฟ เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ด้านในมีร้านจำหน่ายอาหารจีนชื่อ ห้องอาหารแมนดาริน ที่ห้องอาหารนี้มีจุดเด่นคือ เป็ดย่างสไตล์ฮ่องกงอันโอชะ ซาลาเปาและขนมจีบเลิศรส เป็นที่นิยมมากในหมู่ลูกค้าชาวจีนในสมัยนั้น ทั้งนี้เพราะคุณชวลิตเป็นผู้ที่มีรสนิยมในเรื่องอาหารดีมากๆ มักจะเดินทางท่องเที่ยวไปชิมอาหารที่ต่างประเทศเสมอๆ เห็นอะไรดีก็นำมาปรับปรุงขายที่โรงแรมชวลิต และกล้าที่จะจ้างเชฟและกุ๊กที่มีฝีมือ นอกจากนี้ยังมีวิสัยทัศน์กว้างไกลในเรื่องอาหาร เป็นผู้ริเริ่มทำอาหารจานเดียวขายในราคา 15 บาท อันเป็นต้นแบบของศูนย์อาหารตามห้างสรรพสินค้า เริ่มที่ห้างมาบุญครอง และห้างต่างๆมาจนถึงวันนี้

ก่อนที่คุณชวลิตจะตกลงจ้างผม ท่านถามคำถามแรกว่า เป็นเพื่อนกับแมนรัตน์หรือ จากนี้ก็ให้ผมไปพบกับผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์คือ คุณกิ่งดาว ดารณี (นักแสดงในเวลานั้น) ตำแหน่งงานที่ผมได้รับการว่าจ้างคือ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์

ต่อไปในข้อเขียนนี้ผมจะใช้สรรพนามเรียกคุณชวลิต ทั่งสัมพันธ์ว่า ท่านประธาน เรียกคุณกิ่งดาวว่า พี่อี๊ด ฝ่ายประชาสัมพันธ์อยู่ชั้นล่างของโรงแรมเป็นห้องทำงานเล็กๆ แทรกอยู่กับร้านค้าจำหน่ายสินค้าที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวในโรงแรม

Advertisement

เกี่ยวกับ หนุ่มร้อยปี

ชอบดูหนัง ฟังเพลงเก่า เล่าความหลัง นั่งเล่นเน็ต ถ่ายรูป อ่านหนังสือ
ข้อความนี้ถูกเขียนใน คนขายเงา คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s