ณ พ.ศ. 2515 ที่ผมเข้าทำงานในตำแหน่ง ผู้ช่วยฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงแรมชวลิต ถนนสุขุมวิท นั้น การจัดทำประชาสัมพันธ์มีองค์กรไม่กี่ประเภท อาทิ ธนาคาร โรงแรมชั้นหนึ่ง บริษัทจำหน่ายน้ำมัน บริษัทประกันชีวิต เป็นต้น
พูดถึงโรงแรมชั้นหนึ่งในสมัยนั้นก็มีไม่กี่แห่ง อาทิ โรงแรมโอเรียลเต็ล โรงแรมสยามคอนติเนนตัล โรงแรมเอราวัณ(ยุคเก่า) โรงแรมอินทรา โรงแรมเอเซีย โรงแรมไฮแอทรามา โรงแรมชวลิต โรงแรมแมนดาริน โรงแรมมณเฑียร(สุริวงส์) โรงแรมดุสิตธานี เป็นต้น ข่าวสารจากโรงแรมชั้นหนึ่งที่ส่งไปยังสื่อมวลชน ค่อนข้างจะมีมากกว่าธุรกิจประเภทอื่นๆ เพราะโรงแรมมีกิจกรรมต่างๆประจำวันมาก เช่น งานประชุมอบรม งานแต่งงาน งานเลี้ยงสังสรรค์ งานที่โรงแรมจัดเองก็มีหลายงานเช่น งานฉลองส่งท้ายปีเก่าขึ้นปีใหม่ งานแนะนำวงดนตรี งานแนะนำห้องอาหาร ฯลฯ เป็นต้น
สำหรับสื่อมวลชนที่ประชาสัมพันธ์โรงแรมใช้เผยแพร่ข่าวสารมากกว่าสื่ออื่นๆก็คือ หนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารรายสัปดาห์บางฉบับ นอกจากนี้ก็อาจจะมีสื่อวิทยุ ส่วนสื่อ ทีวี นั้นแทบจะไม่ได้ใช้เลย เพราะมีข้อจำกัดในการเผยแพร่ข่าวสาร อาจจะมีการประชาสัมพันธ์ทางอ้อมบ้างเป็นครั้งคราว เช่น ผมเคยนำวงดนตรีใหม่ไปออกรายการ “อควอริอัส” จัดโดย อิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ ทาง ทีวี ช่อง 5 ก็มีผลตอบกลับมาพอสมควร
หนังสือพิมพ์รายวันในสมัยนั้นก็มีจำนวนไม่กี่ฉบับ อาทิ ไทยรัฐ เดลินิวส์ บ้านเมือง สยามรัฐ เดลิไทม์ แนวหน้า เสียงปวงชน เดลิมิรอร์ สยาม ภาษาอังกฤษก็มี บางกอกโพสต์ เนชั่น ภาษาจีนก็มี ซินเสียนเยอะเป้า สากล เป็นต้น
กลยุทธ์ในการที่จะประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์จะต้องมีความคุ้นเคยกับคอลัมนิสต์ผู้ควบคุมหน้าข่าวสารต่างๆ เช่น หน้าข่าวสังคม หน้าข่าวบันทิง หน้าข่าวกีฬา หน้าข่าวการศึกษา และเคล็ดลับที่สำคัญที่สุดจะต้องรู้ว่า คอลัมนิสต์คนไหนใช้นามปากกาว่าอะไร เช่น โกวิท สีตลายัน แห่งไทยรัฐ ใช้นามปากกาว่า รามสูร มังกรห้าเล็บ สันติ เศวตวิมล ใช้นามปากกาว่า แม่ช้อยนางรำ สันติ วิริยะรังสฤษดิ์ ใช้นามปากกาว่า ใต้ฝุ่น อนันต์ อัศวนนท์ แห่งบ้านเมือง ใช้นามปากกาว่า มดคันไฟ ประสาน มีเฟื่องศาสตร์ แห่ง สยาม ใช้นามปากกาว่า กระแช่ พิษณุ พิมพ์วิชัย แห่งเดลิมิเรอร์ ใช้นามปากกาว่า สิบแสน บางคนก็ใช้นามจริงเช่น พอใจ ชัยเวฬุ แห่งเดลิไทม์ คอลัมน์นิสต์ในเวลานั้นมีจำนวนหลายสิบคน อาจจะต้องใช้สมุดจดบันทึกไว้กันลืม ประชาสัมพันธ์มือใหม่(หัดขับ) เวลาส่งข่าวไปลงคอลัมน์ไหน ส่งไปในนามปากกา ถ้าไม่ใช่ข่าวสำคัญๆมักจะลงหน้า 17 (ตระกร้าใส่ผง) เพราะคอลัมนิสต์ผู้คุมหน้านั้นเขารู้สึกว่าไม่รู้จักเขาจริง คอลัมนิสต์ดังๆในสมัยนั้นมักจะมีอัตตาสูงมากๆ ต้องใช้เวลานานกว่าจะสนิทสนมรู้ใจเขา
ค่าใช้จ่ายในการจัดทำประชาสัมพันธ์ในสมัยนั้น มักจะเป็นค่าเลี้ยงรับรอง (Entertain) จะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับขนาดของโรงแรมและฝีมือของประชาสัมพันธ์ บางครั้งหนังสือพิมพ์บางฉบับอาจจะมีการจัดงานฉลองครบรอบปี ประชาสัมพันธ์ก็จะจัดกระเช้าดอกไม้ไปอวยพร หรือจัดอาหารไปร่วมงาน
สำหรับโรงแรมชวลิตที่ผมทำงานเป็นประชาสัมพันธ์ จะไม่พลาดงานสำคัญๆของหนังสือพิมพ์เลย เช่น งานฉลองครบรอบปีของหนังสือพิมพ์ งานคล้ายวันเกิดของผู้บริหารของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ งานคล้ายวันเกิดของคอลัมนิสต์ดังๆที่คุมคอลัมน์ต่างๆ เทศกาลปีใหม่ เป็นต้น จะจัดอะไรไปร่วมงานก็พิจารณาตามความเหมาะสม
คุณธรรณพ ธนะเรือง นักหนังสือพิมพ์รุ่นนั้น เคยบอกผมว่า เคล็ดลับอีกอย่างที่จะสร้างความประทับใจให้นักหนังสือพิมพ์คือ เวลานักหนังสือพิมพ์คนไหนตกงาน อย่าเมินหนีเขาถ้าเขามาหาก็ให้ต้อนรับเขาอย่างดีเหมือนเดิม เพราะนักหนังสือพิมพ์สมัยนั้นเปลี่ยนงานบ่อย ไม่ช้าไม่นานเขาก็จะได้งานทำอีก ข่าวของเราจะได้รับการตีพิมพ์เป็นข่าวแรกก่อนคนอื่นๆ ในทำนองกลับกันหากเขาตกงานเรากลับทำเป็นไม่เห็นเขา เมื่อเขาได้งานทำอีก ข่าวของเราจะถูกทิ้งตระกร้าก่อนข่าวของคนอื่นๆ
การส่งข่าวในสมัยนั้นไม่นิยมส่งทางไปรษณียื เพราะโอกาสสุญหายมีมาก นิยมส่งโดยพนักงานส่งเอกสารของโรงแรม หากส่งทางไปรษณีย์แล้วข่าวของเราเงียบหายไป สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติคือห้ามโทรไปถามเป็นอันขาด เพราะคอลัมนิสต์สมัยนั้นเขาไม่ชอบ ก็ไม่ทราบเหตุผลเหมือนกัน
หน้าที่หลักอีกอย่างหนึ่งของผมคือ ต้องตรวจเช็คหน้าข่าวสังคมทุกวัน ว่ามีใครหรือผู้ใหญ่ท่านใดจัดงานคล้ายวันเกิด งานสวดอภิธรรมศพ เพราะท่านประธานฯ(คุณชวลิต ทั่งสัมพันธ์) รู้จักคนมาก หากท่านถามลงมาแล้วเราตอบว่าไม่ทราบ อาจจะมีหวังต้องกลับไปกินข้าวที่บ้านก็ได้ เพราะประชาสัมพันธ์มีหน้าที่ต้องไปงานแทนท่าน (ท่านไม่นิยมออกงาน)