ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย ตอน”คนโรงแรม”(9)

เมื่อโรงแรมปอยหลวงใกล้จะเปิด เจ้าของโรงแรมก็ได้แนวคิด(จากใครไม่รู้) จัดรถทัวร์ของโรงแรมขึ้น ชื่อว่าปอยหลวงบริการ โดยมีนโยบายว่าหากใครจะไปพักที่โรงแรมปอยหลวง จะได้รับสิทธิพิเศษ และมีบริการรถรับ-ส่งเข้าเมืองเชียงใหม่ฟรี สมัยนั้นต้องเรียกว่าตรงสี่แยกสันกำแพงอยู่ชานเมืองเชียงใหม่

ปอยหลวงบริการ ลงทุนซื้อรถทัวร์ชั้นดี 40 ที่นั่ง ทันสมัยล่าสุด ยี่ห้อ วอลโว่ มาจำนวน 3 คัน มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าถนนเกษร ใกล้โรงแรมเพรสิเด้น ราชประสงค์ ใน พ.ศ. นั้น (2519) ธุรกิจรถทัวร์ต่างจังหวัดเฟื่องฟูสุดขีด มีบริการรถทัวร์ไม่ต่ำกว่า 30 บริษัท แต่ปอยหลวงบริการก็ไม่หนักใจ เพราะลูกค้าเป้าหมายชัดเจนอยู่แล้ว คือผู้ที่เดินทางขึ้นไปเชียงใหม่ และหากเข้าพักที่โรงแรมปอยหลวง ค่ารถทัวร์คิดอัตราพิเศษ ค่าเข้าพักที่โรงแรมคิดอัตราพิเศษเช่นกัน มีบริการรถรับ-ส่งเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ฟรี แค่นี้ก็พอจะเอาตัวรอดได้ในระดับหนึ่ง

เมื่อโรงแรมปอยหลวงเปิดดำเนินการได้ประมาณสองเดือน เค้าลางแห่งความวุ่นวายก็เกิดขึ้น ถ้าจะเอาหลักวิชาการที่ อาจารย์กมล รัตนวิระกุล นายกสมาคมการบริหารโรงแรมไทย จัดอบรมเจ้าของโรงแรมและรีสอร์ท ในหลักสูตร “การจัดการระดับสูง” มาวิเคราะห์ก็จะพบข้อบกพร่องของเจ้าของโรงแรมปอยหลวงดังนี้  1.ไม่มีวิสัยทัศน์ ((Vision) 2. ไม่มีพันธะกิจ (Mission) 3. ไม่มีวัตถุประสงค์ (Objective) 4. ไม่มีเป้าหมาย (Goal) เพียงขาดหลักการ 4 ข้อนี้ ก็เตรียมเลิกกิจการได้แล้ว

แต่โรงแรมปอยหลวงยังมีตัวแปรเข้ามาเสริมให้กิจการทุดหนักลงอีกคือ ตอนแรกพวกเราผู้บริหารก็เข้าใจว่า ผู้พันสำเริง เป็นเจ้าของกิจการแต่เพียงผู้เดียว แต่ไม่ใช่ยังมีหุ้นส่วนอีกหลายคน หุ้นส่วนคนแรกที่เผยโฉมหน้ามาให้พวกเรารู้จักคือ เจ๊โย (พวกเราเรียกกันอย่างนั้น และจำไม่ได้ว่าชื่อจริงของเจ๊คืออะไร) เป็นภรรยา(น้อย) ของผู้พันสำเริง มีบทบาทเหนือผู้พันสำเริง มากนัก คุณเสนอ กรรมการผู้จัดการ ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นเพื่อนผู้พันสำเริง ความจริงคือ หุ้นส่วนคนหนึ่ง โชคร้ายที่สุดคุณเสนอเกิดไม่ลงรอยกับเจ็โยซะด้วย เค้าลางแห่งความยุ่งยากก็ฉายชัดขึ้นทุกวัน

คณะกรรมการของบริษัทมีความขัดแย้งกันประจำ ไม่มีนโยบายที่ชัดเจน มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันขึ้น ผลพวงของความขัดแย้งมาลงที่คุณสุทธิพงษ์ อัศวรักษ์ ผู้จัดการทั่วไป  ไม่รู้จะเชื่อใครดี สุดท้ายปลดตัวเองไปเป็นผู้จัดการรถทัวร์ปอยหลวงบริการสบายใจดีกว่า ผมเองก็อยู่ในวังวนของความขัดแย้งของคณะกรรมการโรงแรมเป็นคนที่สอง กรณีการจ้างพนักงาน การเลิกจ้างพนักงาน  กรณีที่ทำงานไม่เข้าตาของคณะกรรมการคนใดคนหนึ่ง พวกเราถึงกับเชิญผู้พันสำเริงมาพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว ว่าผู้พันจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร ไม่มีคำตอบจากสวรรค์(ผู้พันสำเริง)

สุดท้ายผมก็ทนความกดดันหลายๆด้านไม่ไหว ตัดสินใจลาออกจากโรงแรมปอยหลวง หลังจากที่ทนทำงานได้ประมาณ 6 เดือน ลงมากรุงเทพอย่างเสียความรู้สึกอย่างมาก

ข้างหลังชีวิตตอน”คนโรงแรม” คงจะเว้นวรรคไปสักระยะหนึ่ง และเข้าสู่ตอน”คนกลางคืน”ตั้งแต่ตอนหน้า ความจริงผมเป็นคนกลางคืนสมัยเป็นผู้จัดการ ออสการ์คลับ ที่โรงแรมชวลิต และที่ ไฟร์แคร็กเกอร์ โรงแรมเฟิร์สท แล้ว แต่ยังคาบเกี่ยวกันคนกลางวันอยู่

ช่วงนี้ประมาณกลางปี พ.ศ. 2520 กรุงเทพกำลังนิยมคลับดิสโก้เทคกัน มีเปิดแล้วสองแห่งดังมากคือ ดิสโก้เทคที่โรงแรมชวลิต(ห้องรอยัลกริลล์เก่า) ดำเนินการโดย มร.ลี ชาวฮ่องกง และที่ชั้น 7 ตึก บีโอเอซี ราชประสงค์ ดำเนินการโดย เปี๊ยก โปสเตอร์ ที่วางพู่กันหันมาเอาดีทางนี้ ผมมีโอกาสพบกับคุณวิวัย จิตต์แจ้ง อีกครั้ง คราวนี้ทราบว่าย้ายมาทำงานที่โรงแรมชวลิต คุณวิวัยบอกผมว่าน่าจะมาช่วยทำคลับดิสโก้อีกครั้ง เพราะคุณวิวัยรู้จักกับกลุ่มนักธุรกิจกลุ่มหนึ่ง กำลังจะจัดตั้งคลับดิสโก้ที่ห้องอาหารจีนของเสี่ยอ๋า ที่อยู่ด้านหลังของศูนย์การค้าเพลินจิตอาเขต ของคุณเสถียร เสถียรสุต นักธุรกิจชื่อดังในสมัยนั้น สี่แยกเพลินจิต

ผมตอบตกลงเพราะไม่มีอะไรจะทำในตอนนั้น ผมรับงานเป็นผู้จัดการทั่วไป คุณวิวัย จิตต์แจ้งเป็นประชาสัมพันธ์ ห้องอาหารจีนของเสี่ยอ๋ามีพื้นที่กว้างขวางมาก บรรจุนักเที่ยวได้หลายร้อยคน นักธุรกิจกลุ่มนี้มีคุณมนูญ เจ้าของค๊อฟฟี่ชอฟเล็กๆแห่งหนึ่ง ย่านถนนเฟื่องนครเป็นแกนนำ

คลับนี้ชื่อ ดิสโก้ฟีเว่อร์ (Disco Fever) ลงทุนตกแต่งและซื้อุปกรณ์ระบบแสงเสียงจากฮ่องกงประมาณสามล้านบาท จากฝีมือการประชาสัมพันธ์ของคุณวิวัย จิตต์แจ้ง ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นับเป็นดิสโก้เทคแห่งที่สามของกรุงเทพ

Advertisement

เกี่ยวกับ หนุ่มร้อยปี

ชอบดูหนัง ฟังเพลงเก่า เล่าความหลัง นั่งเล่นเน็ต ถ่ายรูป อ่านหนังสือ
เรื่องนี้ถูกเขียนใน คนโรงแรม และติดป้ายกำกับ , , , , , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s