ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย ตอน”คนขายข้าวแกง”(1)

เมื่อ พ.ศ. 2523 หรือ 30 ปีมาแล้ว ตรงมุมถนนศรีอยุธยาตัดกับถนนราชปรารภ หรือที่เรียกกันว่า สี่แยกมักกะสัน มีตึกใหญ่สูงตระหง่านด้านนอกตึกกรุด้วยกระเบื้องเซรามิคสีดำ ชาวบ้านย่านนั้นเรียกกันว่า ตึกดำ ตึกนี้คือกองบัญชาการกลุ่มธุรกิจ พีเอสเอ (PSA)

กลุ่ม พีเอสเอ ดำเนินธุรกิจหลากหลายประเภท อาทิ บริษัทเงินทุน บริษัทประกันชีวิต บริษัทออกแบบก่อสร้าง บริการรถเช่า บริษัททัวร์ สำนักพิมพ์ บริการรับซักรีด โรงแรมชั้นหนึ่ง แม้กระทั่งขายข้าวแกง(ติดแอร์) มีนักธุรกิจที่เคยทำงานกับกลุ่ม พีเอสเอ หลายท่านมีชื่อเสียงอยู่ในวงการธุรกิจวันนี้ อาทิ กมล รัตนวิระกุล นายกสมาคมการบริหารโรงแรมไทย ไพบูลย์ สำราญภูติ นักขายและที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจต่างๆ สนธิ ลิ้มทองกุล นักหนังสือพิมพ์ชื่อดัง ฯลฯ

ในช่วงพ.ศ. 2523 ไพบูลย์ สำราญภูติ ทำงานอยู่ในกลุ่มนี้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายขายของ บริษัท อินเตอร์ไลฟ์ จำกัด ได้ชวนให้ผมมาทำงานที่ข้าวแกงรามา ตำแหน่งผู้จัดการส่งเสริมการขาย มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ซอยแสงจันทร์ ถนนกล้วยน้ำไท เขตพระโขนง

แนวคิดในการทำธุรกิจขายข้าวแกงรามานั้น เกิดจากคุณสุธี นพคุณ (S) หนึ่งในแกนนำของกลุ่ม พีเอสเอ ซึ่งขณะนั้นมีธุรกิจโรงแรมชั้นหนึ่งคือ ไฮแอทรามา ที่ถนนสีลม เห็นว่าประชาชนคนเดินดินกินข้าวแกงริมถนน นั้น หากจะพัฒนาข้าวแกงจากที่กินกันตามริมถนน มาเป็นขายในอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศ สถานที่สวยงาม พนักงานบริการดี รสชาดอาหารมีมาตรฐานจากโรงแรมชั้นหนึ่ง ขายในราคาไม่แพง น่าจะได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี แต่นี่เป็นเพียงแนวคิด ในทางปฏิบัติมันตรงกันข้าม มันกลายเป็นข้าวแกงติดแอร์ที่คนทั่วไปไม่สนใจ

จากแนวคิดนี้ คุณสุธี นพคุณ ลงทุนอย่างมหาศาล ด้วยการซื้ออาคารอพาร์ตเมนต์จาก คุณสุระ จันทร์ศรีชวาลา ที่ซอยแสงจันทร์ กล้วยน้ำไท ซื้ออุปกรณ์เครื่องครัวแบบทันสมัย ใช้อุปกรณ์เกือบจะเหมือนครัวโรงแรมชั้นหนึ่งเลย มีการสร้างร้านขายเป็นสาขาตามที่ต่างๆจำนวนหลายแห่ง อาทิ สาขาสยามแสควร์ ตรงที่เป็นโรงแรมโนโวเทล วันนี้ สาขาราชดำริ ตรงที่เป็นบิ๊กซ๊ ราชประสงค์ สาขารามกำแหง สาขาราชวิถี และสาขาสุดท้ายตรงท่าน้ำศิริราช ทุกสาขาเป็นอาคารพาณิชย์หนึ่งหรือสองคูหาตามย่านที่ตั้งอยู่ ติดแอร์เย็นฉ่ำ พนักงานมีเครื่องแบบสวยงาม ผู้จัดการร้านหรือสาขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีเคาเตอร์สำหรับใส่อาหารพร้อมเครื่องอุ่นอาหารให้ร้อนตลอดเวลา ขายราคาจานละ 12 บาท (กับข้าวอย่างเดียว) ถ้ากับข้าวสองอย่างขายจานละ 15 บาท มีครัวเล็กๆด้านหลังสำหรับทำอาหารตามสั่งอย่างง่ายๆ อาหารส่วนใหญ่จะส่งมาครัวใหญ่ที่กล้วยน้ำไททุกเช้า

ดูตามที่กล่าวมานี้น่าจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ในความเป็นจริงอาหารไทยแบบแกงมีส่วนผสมเป็นกะทิ เมื่อเวลาผ่านไปรสชาดอาหารก็จะเปลี่ยนไป สีสันไม่น่ากิน โดยเฉพาะราคาที่ขายนั้น ก็ยังแพงกว่าร้านขายข้าวแกงตามตลาดทั่วๆไปที่ขายกันจานละ 5 บาทเท่านั้น แถมเป็นแกงใหม่ๆรสชาดถูกปากคนทั่วไป ลูกค้าส่วนใหญ่ตอนแรกๆจึงเป็นพนักงานที่ทำงานตามบริษัทห้างร้าน คนทั่วไปไม่กล้าเข้ามากินเพราะกลัวสถานที่ อันนี้เป็นการฝืนพฤติกรรมของผู้บริโภคในสมัยนั้น เรียกว่าเป็นธุรกิจที่เกิดเร็วเกินไปล้ำหน้าเวลา

ในฐานะที่ผมรับผิดชอบงานส่งเสริมการขาย ก็พยายามเต็มที่ที่จะประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าสนใจ แต่ดูเหมือนผลที่ได้รับจะไม่ดีเท่าที่ควร ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นงานบริหารหน้าร้าน แต่งานบริหารหลังร้านนี่สิมีปัญหาที่ต้องแก้ไขมากมาย อาทิ การจัดซื้อวัตถุดิบต่างๆที่จะนำมาปรุงอาหาร ความสิ้นเปลืองเครื่องปรุงต่างๆในครัวใหญ่ การจัดการครัวให้มีประสิทธิภาพ การอุดการรั่วไหลต่างๆที่เกิดขึ้น

คุณไพบูลย์ สำราญภูติ จึงต้องมาดูแลอย่างเต็มที่ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารามา ซึ่งเป็นองค์ที่รับผิดชอบข้าวแกงรามาโดยตรง โดยย้ายมาจากบริษัท อินเตอร์ไลฟ์ จำกัด แต่ถึงแม้จะแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆแล้ว ผลประกอบการก็ยังขาดทุนสะสมอยู่อีกทุกเดือน ด้วยความเป็นนักการตลาด คุณไพบูย์จึงออกผลิตภัณฑ์ มาขายเสริม อาทิ น้ำปลารามา เนื้อเทียมรามา ซึ่งสั่งผลิตโดยตรงจากโรงงานที่สมุทรสาคร และบริการจัดส่งปิ่นโตตามบ้าน บริการรับจัดงานเลี้ยงตามสถานที่ราชการและงานทั่วๆไป

Advertisement

เกี่ยวกับ หนุ่มร้อยปี

ชอบดูหนัง ฟังเพลงเก่า เล่าความหลัง นั่งเล่นเน็ต ถ่ายรูป อ่านหนังสือ
เรื่องนี้ถูกเขียนใน คนขายข้าวแกง และติดป้ายกำกับ , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s