ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย ตอน”คนขายสินค้าโชห่วย”(1)

ขณะนี้คือปลาย พ.ศ. 2528 หลังจากที่ผมลาออกจากงานที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมบางปูแล้ว ผมก็มาพักผ่อนอยู่กับบ้าน เพื่อทบทวนชีวิตว่าต่อไปจะทำมาหากินอะไรดี แต่ใจหนึ่งก็เชื่อมั่นในชาตาชีวิตของตนเองว่า คงจะไม่อับจนนักในเรื่องการหางานทำ เพราะประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี

หลังจากอยู่กับบ้านได้ประมาณระยะหนึ่ง ก็มีโอกาสพบกับเพื่อนคนหนึ่งชื่อ ทวิช อุไรเริง สมัยที่ผมทำงานอยู่โรงแรมชวลิต เคยมาพบผมเรื่องการจัดตั้ง สถาบันพัฒนาผู้นำ และขอให้ผมช่วยประชาสัมพันธ์ให้ คุณทวิชบอกว่า อ.สมิต สัชฌุกร แนะนำให้มาหาผม วันนี้เขาทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายธุรการ ห้างสรรพสินค้าเมอร์รี่คิงส์ สาขาวังบูรพา

ต้องขอเรียนว่า ณ พ.ศ. นี้ เป็นยุคทองของห้างสรรพสินค้า ในกรุงเทพมหานครมีห้างสรรพสินค้าเปิดตัวขึ้นแทบจะเดือนละห้าง อาทิ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ขยายสาขาไปยึดครองพื้นที่ชานเมืองแทบจะครบสี่ทิศแล้ว ห้างสรรพสินค้าเอ็กเซล เปิดที่ประตูน้ำ ตรงที่เป็นห้างพันธ์ทิพย์ ห้างสรรพสินค้าคาเธ่ย์ ย่านเยาวราช ห้างสรรพสินค้าพาต้า ปิ่นเกล้า ห้างสรรพสินค้าเมอร์รี่คิงส์ ปิ่นเกล้า ฯลฯ คุณทวิช ถามผมว่าสนใจทำงานห้างสรรพสินค้าใหม ผมก็ตอบว่าน่าสนใจนะ คุณทวิชบอกผมว่าจะพาไปพบเพื่อนคนหนึ่ง ทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลอยู่ที่ห้างฯเปิดใหม่ ย่านบางกะปิ

คุณทวิช พาผมไปพบคุณสมชาย สหนันท์พร ที่ห้างสรรพสินค้า ลัคกี้แฟมิลี่สโตร์ ซึ่งเปิดใหม่ตั้งอยู่ด้านหลังเขตบางกะปิ คนละฝั่งคลองแสนแสบ ด้านหน้าติดถนนสุขาภิบาล 3 (ปัจจุบันคือ ถนนรามกำแหง) ตำแหน่งที่ผมได้รับการว่าจ้างคือ ผู้จัดการแผนกฝึกอบรม งานฝึกอบรมถือว่าเป็นงานที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากของห้างฯไม่ยิ่งหย่อนกว่างานอื่นๆ เพราะนอกจากจะทำการอบรมพนักงานประจำของห้างแล้ว ยังต้องอบรมพนักงานขายที่บริษัทซัพพลายเอ่อร์ส่งมาขายสินค้า เราเรียกพนักงานขายสินค้าทั่วไปว่า พนักงาน พีซี พนักงานขายสินค้าเครื่องสำอางว่า พนักงาน บีเอ ซึ่งห้างใหญ่ๆจะมีพนักงานประเภทนี้จำนวนเป็นร้อยคน ความจริงเรื่องที่อบรมก็คือการปฐมนิเทศเกี่ยวกับกฏ ระเบียบของห้างฯนั่นเอง

พนักงานขายประเภทนี้จะหมุนเวียนกันเข้ามาทุกเดือน บางครั้งพนักงานประเภทนี้ทำผิดระเบียบของห้างฯ เราขอส่งคืนบริษัทฯ หรือบริษัทฯส่งพนักงานใหม่เข้ามาทดแทนพนักงานเก่า ห้างฯจึงต้องมีการอบรมปฐมนิเทศกันทุกสัปดาห์

ห้างสรรพสินค้าลัคกี้แฟมิลี่สโตร์ เป็นห้างของคุณชัชวาลย์ สุวรรณไพรพัฒนะ คนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งมีอาชีพดั้งเดิมเป็นช่างเคาะพ่นสีรถยนต์ ต่อมาตั้งอู่เคาะพ่นสีรถยนต์และพัฒนามาเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต่อมาเป็นผู้จัดสร้างหมู่บ้าน ทาวน์ อิน ทาวน์ ซอยวัดเทพลีลา และโรงแรมระดับสามดาวชื่อ โรงแรมทาวน์ อิน ทาวน์ ที่พัทยากลาง ชลบุรีและที่กรุงเทพ

คุณชัชวาลย์ บริหารงานระบบเถ้าแก่ ไม่มีระเบียบกฏเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องการเงินมักจะใช้เงินผิดประเภทเสมอๆ ไม่มีใครกล้าทักท้วง (ถึงจะทักท้วงคุณชัชวาลย์ก็ไม่เชื่อ) อาทิ การนำเงินสดที่ขายสินค้าหน้าห้างฯแต่ละวัน ไปลงทุนซื้อที่ดินตามที่ต่างๆ กรณีนี้ทำให้เกิดการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ที่วิกฤตที่สุดคือการจ่ายเช็คแล้วบริษัทซัพพลายเอ่อร์นำไปขึ้นเงินไม่ได้ เท่านี้แหละเสมือนไฟใหม้ฟางรู้กันไปทั่ววงการ ซัพพลายเอ่อร์ต่างพากันแอนตี้ไม่ยอมส่งสินค้าให้ บางรายที่ร้ายกว่านั้นยังขนสินค้ากลับก็มี ห้างฯทุกห้างฯจะอยู่ได้ก็เพราะซัพพลายเอ่อร์ให้เครดิตทั้งนั้น เมื่อประสบวิกฤติเช่นนี้ห้างฯของคุณชัชวาลย์จำต้องปิดกิจการลง หลังจากที่เปิดดำเนินการมาได้เพียง 10เดือนเท่านั้น

บรรดาพนักงานและผู้บริหารต่างก็พากันไปหางานที่อื่นทำ คุณชัชวาลย์ ก็หลบลี้หนีหน้าบรรดาเจ้าหนี้ที่พากันตามล่าจ้าละหวั่น ด้วยมูลค่าหนี้สินจำนวนหลายสิบล้านบาท

ผู้บริหารของห้างฯลัคกี้แฟมิลี่สโตร์ยุคแรกและยุคเดียวที่ผมพอจำได้คือ คุณสมชาย สหนันท์พร ผู้จัดการฝ่ายบุคคล คุณทวิช ปื่นแก้ว ผู้จัดการฝ่ายขาย ผม คุณวิวัย จิตต์แจ้ง เพิ่งมาทำงานได้เพียงสองเดือน ในตำแหน่งผู้จัดการแผนกสงเสริมการขาย (ลาออกมาจาก สวนสยาม)

ผมและคุณวิวัยทราบดีว่าคุณชัชวาลย์หลบซ่อนเจ้าหนี้อยู่ที่ไหน จึงไปพบแกเพื่อเป็นกำลังใจให้ (ความเป็นจริงคืออยากได้เงินเดือนสุดท้ายที่ยังไม่ได้จ่ายให้ผมและคุณวิวัย) ตลอดเวลาที่ไปเยี่ยมเยียนแกประจำจึงทำให้ผมและคุณวิวัย ถูกเรียกตัวมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง เมื่อแกชนะคดีกรมการศาสนาเรื่องการสร้างอาคารพาณิชย์ ที่ซอยวัดแห่งหนึ่ง(จำชื่อวัดไม่ได้) ใกล้ๆกับบริษัทเครื่องสำอางมิสทีน ถนนรามกำแหง และสามารถยืนหยัดขึ้นมาได้อีกครั้งด้วยเงินที่ชนะคดีจำนวนสิบกว่าล้านบาท

Advertisement

เกี่ยวกับ หนุ่มร้อยปี

ชอบดูหนัง ฟังเพลงเก่า เล่าความหลัง นั่งเล่นเน็ต ถ่ายรูป อ่านหนังสือ
ข้อความนี้ถูกเขียนใน คนขายสินค้าโชห่วย คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s