เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2537 ผมได้รับการชวนจากคุณไพบูลย์ สำราญภูติ ให้มาร่วมงานกันอีกที่ นิตยสาร “ชีวิตต้องสู้” รายสัปดาห์ ซึ่งเป็นหนังสือในเครือของ นสพ.”ผู้จัดการ” โดย สนธิ ลิ้มทองกุล เป็น(เป็นผู้ก่อตั้ง)
ท่านคงจะยังจำกันได้ว่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2527 คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เพิ่งแจ้งเกิดด้วยการจัดพิมพ์ นิตยสาร”ผู้จัดการ” รายเดือน ขนาดรูปเล่มเท่ากับนิตยสาร “สรรสาระ” รายเดือน
จะเป็นเพราะความเก่งหรือความเฮง หรือทั้งเฮงและเก่งก็ตาม เพียงเวลาผ่านไปประมาณ 10 กว่าปี คุณสนธิสามารถสร้างอาณาจักรเครือ นสพ.ผู้จัดการขึ้นมาได้ มีโรงพิมพ์เป็นของตนเองคือ บริษัทโรงพิมพ์ตะวันออก ตั้งอยูที่หลักสี่ ตรงข้ามโรงแรมของคุณอัศวิน อิงคะกุลคือ โรงแรมมิราเคิ้ล
พูดถึงนิตยสาร”ชีวิตต้องสู้” เจ้าของหัวหนังสือนี้คือ คุณสันติ เศวตวิมล “แม่ช้อยนางรำ” ที่ดังมาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และมาจับมือกับคุณสนธิปรับปรุงขึ้นมาใหม่ หลังจากที่หยุดชะงักไปนานพอสมควร
คุณไพบูลย์ สำราญภูติ มาเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชีวิตต้องสู้ จำกัด ในฐานะผู้รับผิดชอบบริหารนิตยสารฉบับนี้ สำนักงานก็ตั้งอยูที่โรงพิมพ์ตะวันออกตามที่กล่าวมาแล้ว คุณสันติ เศวตวิมล เป็นบรรณาธิการบริหาร ผมมารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร
นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารอีกหลายฝ่าย และเจ้าหน้าที่กองบรรณาธิการ พูดถึงกองบรรณาธิการผมมีโอกาสพบกับ คุณสุธี มีศีลสัตย์ หลังจากที่พบกันครั้งแรกในฝ่ายโฆษณาโรงภาพยนตร์บางกอกเธียเตอร์ ของเสี่ยศุภชัย อัมพุช ที่ถนนราชปรารภ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2510 และติดตามฝากข่าวท่านเรื่อยมาเมื่อตอนผมเป็นประชาสัมพันธ์โรงแรมชวลิต โลกมันกลมครับท่านจึงได้มาพบกันที่นี่อีก
เมื่อผมเข้าไปทำงานแล้วจึงทราบว่าที่นี่ค่อนข้างอันตราย เพราะมีการเล่นการเมืองภายในองค์กรค่อนข้างรุนแรงมาก มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย คุมเชิงคอนจับผิดกันตลอดเวลา ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายคุณไพบูลย์ สำราญภูติ ซึ่งก็พยายามนำเพื่อนสนิทมิตรสหายที่รู้ใจรู้ฝีมือกันมาทำงาน อีกฝ่ายหนึ่งก็คือฝ่ายคุณสันติ เศวตวิมล ซึ่งก็มีลูกน้องอยู่เป็นจำนวนมาก
การประชุมร่วมกันทั้งสองฝ่ายมักจะมีปัญหาไม่ลงรอยกันเสมอ ถามว่าคุณสนธิ ลิ้มทองกุลในฐานะประธานฯรู้ใหม ก็ต้องตอบตามความเป็นจริงว่า รู้ แต่ก็ยังไม่จัดการอะไรที่เป็นการหักหาญน้ำใจของสองฝ่ายลงไป เพราะคุณไพบูลย์ก็เป็นผู้มีพระคุณกันมาก่อน คุณสันติก็เป็นเพื่อนสนิทกัน และยังเป็นเจ้าของหัวหนังสืออีกด้วย
สุภาษิตจีนโบราณว่าไว้ “งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา” กรณีความขัดแย้งระหว่างคุณไพบูลย์กับคุณสันติ ก็เช่นกัน วันหนึ่งก็ถึงจุดแตกหัก คุณสนธิเลือกคุณสันติไว้ เพราะเป็นบรรณาธิการบริหารและมีลูกน้องเป็นนักหนังสือพิมพ์จำนวนมาก ปล่อยคุณไพบูลย์ไป ทุกอย่างก็จบลง สรุปแล้วผมทำงานที่นี่ประมาณ 10 เดือน (ตั้งแต่มกราคม ถึงตุลาคม 2538)