ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย ตอน”คนค้าเงิน”(2/2)

เมื่อขึ้น พ.ศ.ใหม่ 2539 คุณเจริญ และคุณหญิง วรรณา สิริวัฒนภักดี ใจดีกรุณาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงสังสรรค์ต้อนรับปีใหม่ให้ คณะผู้บริหาร บงล.มหาธนกิจ จก. ที่โรงแรมมณเฑียร สุริวงศ์

เมื่องานตกแต่งสำนักงานแห่งใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ย้ายที่ทำการจากที่เก่า(สวนมะลิ)ไปที่ใหม่ อาคารยูไนเต็ด เซ็นเตอร์ ถนนสีลม การย้ายเกือบจะไม่ต้องขนเอาอะไรไปเลย นอกจากเอกสารสำคัญ เพราะสำนักงานใหม่มีทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบแล้ว

จำนวนพนักงานจากที่เก่าประมาณไม่เกินร้อยคน(รวมทั้งผู้บริหาร) เมื่อมาอยู่ที่ใหม่ งานเพิ่มมากขึ้น จำนวนพนักงานก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2539 จำนวนพนักงานมีถึง 300 กว่าคน

โดยเฉพาะผู้บริหารทุกระดับทุกฝ่ายก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน กรณีนี้มีข้อน่าสังเกตุว่า การที่พนักงานใหม่เพิ่มขึ้นมามากมายนั้น มิใช่เป็นการรับสมัครทั่วไป แต่เป็นการ(นำพา)เข้ามาโดยผู้บริหารชักชวนกันเข้ามา เช่น นาย ก.เคยทำงานอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่ง เมื่อมาทำงานอยู่ที่นี่ก็ชักชวนลูกน้องเก่าที่เดิมเข้ามาด้วย อาจจะจำนวน 3-4 คนหรือมากกว่านี้ ในฐานะที่ผมดูแลด้านทรัพยากรบุคคลของบริษัทฯ เคยเรียนเสนอแนะคุณเทพ CEO ว่า อาจจะเกิดปัญหาขึ้นในโอกาสหน้า เพราะต่างฝ่ายต่างก็พากันคิดว่า ตนเป็นคนของนายคนนี้ ไม่ใช่คนของนายคนโน้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมในการทำงานก็เริ่มมีความแตกต่างกัน ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องเงินเดือนที่แตกต่างกันด้วย เพราะแต่ละคนก็อ้างว่าอยู่ที่เดิมเคยได้รับเงินเดือนเท่านี้ นี่คือปัญหาใหญ่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคล ทางออกที่คิดว่าน่าจะดีที่สุดในขณะนั้นคือ การจัดสัมมนาร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน

ปัญหลายอย่างๆเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆแต่ว่าน่ากลัวมาก ผมเคยปรึกษาคุณเทพ แต่ท่านบอกว่าไม่มีปัญหาผมคิดมากไป ดังนั้นผมจึงต้องทำใจให้สงบคิดว่าอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ขนาดนายใหญ่(CEO)ยังมองไม่เห็นปัญหาแล้วเราจะไปทำอะไรได้

ไม่แต่เฉพาะปัญหาภายในบริษัท ภายนอกบริษัทก็มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศกำลังก่อตัวขึ้นเช่นกัน บริษัทเงินทุนจำนวนหลายสิบบริษัทเริ่มให้สินเชื่อแก่ลูกค้า โดยขาดหลักเกณฑ์ที่ดี ลูกค้าประเภทโครงการอสังหาริมทรัพย์เริ่มบูมสุดขีด หลายบริษัทลงทุนกันอย่างเมามัน ในที่สุดก็เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างร้ายแรง ทั้งบริษัทเงินทุนผู้ให้กู้เงินและบริษัทลูกค้าผู้กู้เงิน

นั่นคือที่มาของวิกฤติการเศรษฐกิจฟองสบู่แตก เมื่อ พ.ศ. 2540-2541

รัฐบาลชวน หลีกภัย โดย มรว.กระทรวงการคลัง (ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์)ก็จัดทำรายชื่อบริษัทเงินทุนและเงินทุนหลักทรัพย์ ที่คาดว่าอยู่ในข่ายอันตรายจำนวน 60 บริษัท และถูกดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อที่จะยกเลิกหรือปิดบริษัทฯเหล่านี้ ในที่สุดก็มีประกาศของกระทรวงการคลังสั่งปิดบริษัทฯจำนวย 58 บริษัท (บริษัทเงินทุนธีรชัยทรัสต์ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ มหาธนกิจ ก็โดนด้วย) โดยเฉพาะ บงล.มหาธนกิจ กล่าวกันว่าเหตุที่ถูกสั่งปิดเพราะเหตุผลทางการเมือง เพราะบริษัทฯนี้ไม่มีทางที่จะขาดสภาพคล่องทางการเงินแน่นอน เพราะเป็นบริษัทในเครือของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้มีธุรกิจหลากหลาย

Advertisement

เกี่ยวกับ หนุ่มร้อยปี

ชอบดูหนัง ฟังเพลงเก่า เล่าความหลัง นั่งเล่นเน็ต ถ่ายรูป อ่านหนังสือ
ข้อความนี้ถูกเขียนใน คนค้าเงิน คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s