สังคมไทยในช่วงนี้ได้ยินคำว่า “สังคมผู้สูงอายุ” บ่อยขึ้น จากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ เคยสงสัยเป็นการส่วนตัวเหมือนกันว่า จะมีผู้สูงอายุมากน้อยแค่ไหน ที่มีปฏิกิริยากับคำนี้
ผู้เขียนมีความกัวลใจเป็นการส่วนตัวว่า เมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มที่แล้ว จะเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเป็นการต้อนรับสังคมผู้สูงอายุ อาทิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดบริการสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุ สวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุจากหน่วยราชการ เพราะเท่าที่ดูภาพรวมของสังคมไทยแล้ว เห็นว่ามีสิ่งที่ต้องพัฒนาปรับปรุงอีกมาก ประการสำคัญสิ่งที่ต้องพัฒนาปรับปรุงนั้น ล้วนต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล
ดูสวัสดิการที่เป็นรูปธรรมจากทางราชการวันนี้ นอกจากสถานสงเคราะห์คนชรา(ซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่ง)แล้ว เงินเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุก็ยังไม่ตอบสนองชีวิตประจำวันผู้สูงอายุเท่าที่ควร เพราะปัจจุบันค่าครองชีพมันสูงขึ้นทุกวัน ไม่สัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ หากจะปรับเงินเบี้ยเลี้ยงให้เหมาะสมกับความเป็นจริงแล้ว คำถามเดิมๆก็จะกลับมาว่า แล้วจะเอาเงินงบประมาณมาจากไหนมาจ่าย
เรื่องของเรื่องมันก็คงต้องค่อยๆพัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามที่จะทำได้ คนสูงอายุที่พอจะช่วยตนเองได้ส่วนหนึ่งคือข้าราชการเกษียณรับเงินบำนาญ อาจจะไม่เดือดร้อนนัก คนสูงอายุส่วนอาชีพอื่นๆ เช่น คนทำงานเอกชน เกษตรกร คนค้าขาย ก็ต้องช่วยตนเองไปก่อน
สำหรับผู้เขียนบทความนี้คงไม่เดือดร้อนมากนัก อาศัยบารมีของภริยาคู่ทุกข์คู่ยากที่เธอเป็นข้าราชการ ในการเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ หากเธอเกษียณงานแล้วก็มีเงินบำนาญมาแบ่งให้ใช้ตามสมควรแก่อัตถภาพ ชีวิตวันนี้ของผู้เขียนดูจะมีความสุขในระดับหนึ่งครับ