ผมเคยได้ยินใครคนหนึ่งกล่าวว่า “ผลไม้ไม่กินก็เน่า เรื่องเก่าไม่เล่าก็ลืม” ผมชอบมาก และดัดแปลงเอามาเป็นส่วนหนึ่งของสโลแกนชีวิตผมว่า “ชายไทยวัยสูงอายุ ชอบดูหนัง ฟังเพลงเก่า เล่า(เขียน)ความหลัง นั่งเล่นเน็ต” ผมจึงชอบเล่า(เขียน)ความหลัง การเล่าถึงความหลังไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม มันมีประโยชน์อยู่สามประการคือ
1.ทบทวนความจำเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา
2.ความจำในอดีตบางเรื่องน่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่ มีนักเขียนท่านหนึ่งชื่อ สงวน อั้นคง เคยเขียนเรื่องราวในอดีตไว้เป็นหนังสือสารคดีที่มีผู้อ่านนิยมกันมากในสมัยหนึ่งชื่อ “สิ่งแรกในเมืองไทย”
3.เรื่องเก่าในอดีตหากไม่มีการนำมาเล่าใหม่ ไม่นานผู้คนก็จะลืมไป มีชนชาติบางแห่งที่ไม่มีหนังสือเขียน ก็นำเอาวิธีเล่ามาสืบสานต่อรุ่นต่อรุ่น กลายเป็นตำนานที่ทรงคุณค่าและเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน
ชนชาวไทยเราก็ใช้วิธีเล่าเรื่องราวสืบต่อกันมาในหลายภูมิภาคเช่นกัน
เรื่องเก่าในอดีตมีสองประเภทคือ เรื่องเก่าของสังคมโดยรวม และเรื่องเก่าส่วนบุคคลที่เป็นปัจเจกชน ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น เพราะเรื่องเก่าไม่เล่าก็ลืม
ผมเลยมีแนวคิดว่าจะนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ อาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องส่วนรวมคละเคล้ากันไป แต่ก็ให้ประโยชน์ต่อการเรียนรู้เช่นกัน
โปรดอย่า
ลืมว่า “ผลไม้ไม่กินก็เน่า เรื่องเก่าไม่เล่าก็ลืม”