ข้างหลังชีวิต ภาคมัชฌิมวัย ตอน”หนอนหนังสือ”(3)

ผมทำงานอยู่ที่หอสมุดแห่งชาตินานถึง 6 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ถึง พ.ศ. 2511 และได้เปลี่ยนหน้าที่การงานถึง 5 งาน นับเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยคนเดียวในเวลานั้นที่ผู้ใหญ่ให้ความเมตตามาก ใครๆก็อยากจะชวนให้ไปทำงานด้วย การเปลี่ยนงานทำได้ง่ายดาย เพียงหัวหน้ากองฯอนุมัติเท่านั้น เพราะเป็นการเปลี่ยนงานภายในกอง

ผมจะทยอยเล่างานต่างๆที่ผมได้มีโอกาสทำให้ทราบเป็นลำดับไป คือหลังจากที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนหนังสือและจัดหมู่หนังสือแล้วประมาณปีกว่า ก็มีเจ้าหน้าที่คนใหม่เข้ามา หัวหน้าแผนกหนังสือตัวพิมพ์คือ คุณธูป นวลยง หัวหน้าโดยตรงของผมก็มาชวนให้ไปช่วยงานที่แผนก ซึ่งมีหัวหน้าแผนกคนเดียวทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่งานสารบรรณ งานธุรการ และอื่นๆอีกจิปาถะ เพราะหอสมุดแห่งชาติค่อนข้างอาภัพไม่มีผู้ใหญ่คนใดสนใจ ไล่ไปตั้งแต่อธิบดีกรมศิลปากร (ธนิต อยู่โพธิ) ไปจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ซึ่งเป็นต้นสังกัด กรมศิลปากร ดังนั้นว่าจะได้คนมาทำงานสักคนหรือได้งบประมาณมาทำอะไรก็แสนยากเย็นยิ่งนัก แต่พวกเราชาวหอสมุดแห่งชาติในสมัยนั้นก็ไม่น้อยใจหรือท้อถอยนะครับ คงก้มหน้าก้มตาทำงานกันไปอย่างมีความสุขตามอัตถภาพ แต่ไม่ใช่แบบพอเพียงเหมือนในวันนี้นะครับ

คุณธูป นวลยง มีฝีมือในการถ่ายภาพ อัด ล้าง ขยายภาพ เป็นช่างภาพของกรมศิลปากรโดยปริยาย กรมฯมีงานกิจกรรมอะไรมักจะเรียกใช้บริการถ่ายภาพของคุณธูปเสมอๆ หอสมุดแห่งชาติสมัยนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับหนังสือสูญหายอยู่เสมอ และหนังสือถูกฉีกหน้าสำคัญๆ โดยไม่รู้จะแก้ไขอย่างใด ประกอบกับมีจำนวนหนังสือเพิ่มขึ้น เช่นหนังสือพิมพ์รายวัน ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ จนไม่มีที่จะเก็บ และโดยนโยบายสำคัญหอสมุดแห่งชาติต้องเก็บหนังสือทุกชนิดไว้เพื่อการศึกษาค้นคว้าในโอกาสหน้า คุณธูปได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องห้องสมุดท่านหนึ่งว่า ควรจะมีเครื่องถ่ายไมโครฟีล์มสำหรับถ่ายหนังสือเก่าๆเหล่านี้เก็บไว้ด้วยฟีล์ม(ขนาดฟีล์ม 35 มม.) แต่ละเฟรมสามารถถ่ายหน้าหนังสือพิมพ์รายวันได้ และเวลาจะอ่านก็เอาเข้าเครื่องอ่านไมโครฟีล์ม ก็จะสามารถถ่ายหนังสือต่างๆเก็บไว้ได้จำนวนมากมาย

คุณธูปเสนอเรื่องขอจัดซื้อเครื่องถ่ายไมโครฟีล์ม(จำนวน 1 เครื่อง) และเครื่องอ่านไมโครฟีล์ม (จำนวน 3 เครื่อง) กว่าจะได้รับอนุมัติงบประมาณจัดซื้อเครื่องดังกล่าวใช้เวลานาน 2 ปี และจัดซื้อเครื่องถ่ายไมโครฟีล์มและเครื่องอ่านไมโครฟีล์ม หอสมุดแห่งชาติก็ย้ายมาที่แห่งใหม่ คือท่าวาสุกรีแล้ว

แต่ปัญหาหนังสือหายและหนังสือถูกฉีกก็ยังมีอยู่ สุดท้ายกรมฯอนุมัติให้เช่าเครื่องถ่ายเอกสารยี่หอ ซีร็อค (Xerox) มาใช้ เพราะซื้อไม่ไหวราคาเครื่องละหลายแสนบาท และประชาสัมพันธ์ให้ผู้มาอ่านหนังสือมาใช้บริการถ่ายเอกสาร สามารถลดจำนวนหนังสือหายและหนังสือถูกฉีกได้ระดับหนึ่ง

Advertisement

เกี่ยวกับ หนุ่มร้อยปี

ชอบดูหนัง ฟังเพลงเก่า เล่าความหลัง นั่งเล่นเน็ต ถ่ายรูป อ่านหนังสือ
ข้อความนี้ถูกเขียนใน หนอนหนังสือ(3), หนอนหนังสือ(4) คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s